รองนายกฯ สมศักดิ์ ล่องใต้ มอบนโยบาย ศอ.บต. ดับไฟใต้ด้วย “การพัฒนาเศรษฐกิจ แก้จน สร้างคน สร้างงาน ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจพัฒนา เชื่อมใต้ เชื่อมโลก” หวัง 4 ปี รัฐบาลให้คนจังหวัดชายแดนใต้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกด้าน ร่วมมือกันพัฒนา
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับการบริหารราชการและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในส่วนราชการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา เพื่อพบปะข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สังกัด ศอ.บต. ตลอดจนผู้นำศาสนา ผู้นำการศึกษาและผู้นำกลุ่มอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง เพื่อรับฟังข้อมูลสรุปการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ข้อเสนอการพัฒนาเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ กระบวนการทำงานที่จะดำเนินการในระยะต่อไป
พร้อมกันนี้ ได้มอบนโยบายและแนวทางการทำงาน ตลอดจนร่วมวางแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน เนื่องจากตนเองเฝ้าติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดรายปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราตัวเลขการเกิดเหตุและการเสียชีวิตจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ไม่เคยลดลงเลย คือ ตัวเลขความยากจนของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีรายงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ติดอันดับจังหวัดที่ยากจนมากที่สุดและเป็นอยู่หลายปี อยู่ในลำดับที่ 1 ถึง 5 มีความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประชาชนค่อนข้างสูงมากมาโดยตลอด ขณะที่อัตราตัวเลขรายได้ของจังหวัดมีไม่มากนักและไม่มีความหลากหลายของเศรษฐกิจด้วย ไม่สามารถพัฒนากลไกเศรษฐกิจให้เป็นปกติเช่นพื้นที่ทั่วไปได้ ทั้งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนอย่างสุงสุด ข้าราชการทุกคนต้องเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ดูแล ช่วยวางแผน ร่วมดำเนินการและต้องร่วมรับผิดชอบกับการพัฒนา โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ มีความสุขและร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อไปเชื่อมต่อกับโลกมุสลิมทุกพื้นที่ของโลก ผ่านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ" ของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก
ทั้งนี้ ตนเองในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคมด้วย จะได้มอบหมายให้มีการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมสำคัญของพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อประเทศไทยในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้ากับประเทศเพื่อบ้านอย่างเช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งในระยะต่อไปจะได้เชื่อมโยงไปประเทศโลกอาหรับ เช่น การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และรัฐเกดะห์ของประเทศมาเลเซีย ทั้งยั้งจะได้เร่งให้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ตามโครงการ East Coast Railing ที่ปัจจุบันประเทศมาเลเซียสามารถพัฒนาโครงการไปได้มากกว่าร้อยละ 40 เพื่อเชื่อมมายังอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
นายสมศักดิ์ มีข้อสั่งการเชิงนโยบายต่อไปว่า ขอให้ ศอ.บต. ประสานงานร่วมร่วมกับ ปยป. กพร. และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนให้ได้ถือเป็นการเปิดปฏิบัติการแก้จนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะ 3 เดือน 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี เพราะเมื่อยังแก้ไขปัญหาความยากจน ความไม่มีจะกินของพี่น้องประชาชนได้ก็ยากที่จะเดินงานพัฒนาในมิติอื่นๆ ดังนั้น ต้องร่วมกันวางเป้าหมายการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ พื้นที่เศรษฐกิจ
ตนเองมีแนวทางที่จะผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น “ครัวอาหารฮาลาลโลก” ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องผลิตได้ในพื้นที่เพื่อเป็นต้นทุนการผลิตอาหารฮาลาล โดยในส่วนนี้ ได้มอบหมายให้ ศอ.บต. ศึกษาแนวทางและออกแบบ โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปอาหารฮาลาลอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพื่อให้ประชาชนนำผลผลิตและความคิดมาร่วมกันออกแบบกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา มีสถาบันการเงิน นักบริหารและวิจัยการตลาดมืออาชีพ ทำให้เป็นระบบบ เพื่อให้เกิดสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารจากพื้นที่ไปสู่ตลาดโลก ไม่ใช่การผลิตเช่นที่ผ่านมา ที่ไม่มีภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาทั้งระบบ ผลิตสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานนำไปสู่ปัญหาการส่งออกไปขายไม่ได้ ประชาชนหมดกำลังใจ ขาดทุน
เรื่องนี้ต้องทำให้ได้ภายใน 4 ปี การบริหารราชการของรัฐบาล อาหารเป็น 1 ใน Soft power สำคัญของรัฐบาล และประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็นิยมการทำอาหาร เช่น การมีร้านค้าอาหารต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีมาก และสามารถเชื่อมต่อการพัฒนาในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
นายสมศักดิ์ ยังได้เน้นย้ำต่อไปอีกว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่ภาคใต้ต้องการการสนับสนุน การช่วยเหลือ เช่น ด้านการศึกษา ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม การอำนวยความเป็นธรรม การเยียวยา งานด้านสาธารณสุข ที่ดินทำกิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การต่างประเทศ ความหลากหลายของการอยู่ร่วมกัน การบริหารที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ และอื่นๆ ตามข้อเสนอของพี่น้องประชาชน
ในห้วงระยะเวลาต่อจากนี้ ศอ.บต. จะได้ทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ 9 (1) ของ พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่ให้ ศอ.บต. มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนเองจะได้กำกับดูแลการจัดทำให้ยุทธศาสตร์นี้เพื่อให้เป็น “ยุทธศาสตร์การพัฒนาของพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” อย่างแท้จริง” ตนเอง และคณะผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีโอกาสและเข้าร่วมรับฟังการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในทุกเวที ซึ่งในส่วนนี้ได้มอบหมายให้ ศอ.บต. จัดเวทีให้ดี เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมกันสะท้อนปัญหา และการมีข้อเสนอแนะที่พี่น้องประชาชนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
"ผมให้ความสำคัญมาโดยตลอดว่า ประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ มีความเข้าใจในปัญหาของพื้นที่เป็นอย่างดีและรู้ว่าปัญหาจะต้องมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ดังนั้น ต้องมีการสร้างช่องทางและกลไกการแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมการบริหารและการจัดการพื้นที่อย่างหลากหลาย มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมไปถึงการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ ศอ.บต. อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย"
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พี่น้องประชาชนจะร่วมกันออกแบบและสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกับรัฐบาลในครั้งนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และตนเองจะได้มีการให้ข้อมูลความก้าวหน้าการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าท่านจะอยู่ในพื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านจะเป็นคนสำคัญ เป็นเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริงและร่วมมือกับผมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป