คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
“รัฐนาวานิดหนึ่ง” ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เริ่มออกเดินทางก็ต้องฝ่ามรสุมมากมายหลายลูกรอบด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
โดยเฉพาะมรสุมทางเศรษฐกิจนอกจากเรื่องปากท้องจะสำคัญมากแล้ว ยังมีการส่งออกตกต่ำติดต่อกัน 4 เดือน ราคาน้ำมันแพงที่คงแก้ผ้าเอาหน้ารอดด้วยประกาศลดภาษีสรรพสามิต แต่ไม่กล้าแตะกลุ่มทุนพลังงานและผ่าโครงสร้างโรงกลั่นที่เป็นต้นน้ำ หรือไฟฟ้าแพงโดยสั่งให้ กฟผ.ชะลอจ่ายหนี้ทำให้ค่าไฟลดลงได้หน่วยละ 30 สตางค์ เป็นต้น
โดยรวมยังถือว่าเกาไม่ถูกที่คัน มุ่งแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบผิดฝาผิดตัว
หันมาดูเรื่อง “วิกฤตไฟใต้” ที่มอบให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ กำกับดูแล ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำให้คนในพื้นที่เป็นห่วงและถามถึงว่า สมศักดิ์มีความรู้ความความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้แค่ไหน อย่างไร จนคนชายแดนใต้ต่างลงความเห็นว่า แม้ดูเหมือนผู้นำอย่างนายเศรษฐา อาจดูใช้ได้ในเรื่องเศรษฐกิจ แต่น่าจะสอบตกเรื่องความมั่นคง
อีกทั้งก่อนหน้า “รัฐบาลนิดหนึ่ง” ยังได้แต่งตั้งให้ สุทิน คลังแสง ที่มีภูมิหลังเป็นครูและ ส.ส.ฝีปากกล้าในสภาได้นั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหม ซึ่งกำกับดูแล “กองทัพ” ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงในชายแดนใต้โดยตรง และมีหน่วยขึ้นตรงอย่าง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการดับไฟใต้
อย่าลืมว่าวิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่กำลังย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ สังคมและโดยเฉพาะคนชายแดนใต้เคยวาดฝันช่วงเลือกตั้งว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาทำให้ไฟใต้มอดดับได้ โดยต่างเห็นด้วยกับแนวทางของ “พรรคก้าวไกล” ที่เคยทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล แต่ทำไม่สำเร็จ
เช่น การยกเลิก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และ “กฎหมายพิเศษ” ไม่ว่าเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก ที่บังคับใช้อย่างเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เป็นต้น
แต่หลังจากที่เห็นชื่อ รมว.กลาโหมและเครือข่ายที่ถูกส่งไปนั่งในตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น ที่ปรึกษา และเลขาฯ รัฐมนตรี คนส่วนใหญ่ก็อ่านออกและมองเห็นถึงอนาคตชายแดนใต้ที่จะยัง “ไม่มีการเปลี่ยนผ่าน” จากนโยบายและสิ่งเดิมๆ ค่อนข้างแน่นอน
เช่นเดียวกันเมื่อได้รับรู้ว่า รองนายกฯ สมศักดิ์ได้กำกับดูแล ศอ.บต. สังคมก็เกิดความไม่มั่นใจถึงศักยภาพ ศอ.บต.ในยุคที่กำลังจะเปลี่ยนตัวเลขาธิการจาก พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร ที่จะเกษียณในเดือนกันยายนนี้เป็นคนอื่นว่าจะมีทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อย่างไร
แม้จะมีข่าวดีว่า รัฐบาลใหม่เตรียมยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่บิดเบือนโครงสร้าง ศอ.บต.ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคำสั่งที่ทำให้ ศอ.บต.ต้องลดตัวตนลงไปไปอยู่ในกรงเล็บของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นความหวังว่า เมื่อยกเลิกคำสั่งนี้ และ ศอ.บต.กลับสู่โครงสร้างเดิมก็จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในด้านการพัฒนาและด้านสังคมจิตวิทยา รวมทั้งแก้ปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องของความเหลื่อมล้ำ
ทว่าเท่าที่ทราบผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ “เลขาธิการ ศอ.บต.” คนใหม่คือ พ.ต.ท.วัชรพงษ์ คชรัตน์ ซึ่งมีถิ่นที่มาจาก “กระทรวงยุติธรรม” นั่นจะเป็นการ “ผิดฝาผิดตัว” ไปอีกหรือไม่ คงต้องรอพิสูจน์ฝีมือหลังจากที่ได้มารับตำแหน่งจริง
ความจริงในยุคหนึ่งก็เคยมีอดีตตำรวจที่เป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมอย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มาทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต. ท่ามกลางความกังวลของคนในพื้นที่มาแล้ว แต่สุดท้าย พ.ต.อ.ทวี ก็พิสูจน์ให้เห็นความเป็นข้าราชการคุณภาพ เข้าใจปัญหาชายแดนใต้ และทำหน้าที่ได้ดีกว่าผู้นำองค์กรหลายๆ คนในอดีตที่ผ่านมาด้วยซ้ำ
แต่นั่นแหละ มาตรการดับไฟใต้ ณ วันนี้ต้องเดิน 2 ขา นั่นคือ “ขาความมั่นคง” ที่รับผิดชอบโดย “กองทัพ” ที่มี “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นผู้ขับเคลื่อน ดังนั้น นโยบายจาก “กองทัพบก” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่างไรก็ตามต้องรอดูว่า รมว.กลาโหมคนใหม่จะมีนโยบายแบบไหน อย่างไรกับ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.คนใหม่
ถ้าไม่มีอะไรใหม่ นโยบายดับไฟใต้ภายในการขับเคลื่อนของ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ก็จะยังคงเป็นไปในแนวทางเดิมๆ แบบมั่นใจว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” ซี่งก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ก่อการร้ายจะดีขึ้น
และถ้าอยากยุติความรุนแรงก็ย่อมส่งผลถึง “เลขาธิการ ศอ.บต.” คนใหม่ที่แม้จะมีฝีมืออย่างไร ก็ยากที่จะขับเคลื่อนงานทั้งด้านการพัฒนา สังคมจิตวิทยาและอื่นๆ ให้สำเร็จ เพราะหัวใจสำคัญของการดึงชายแดนใต้ออกจาก “กับดัก” อยู่ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องมีนโยบายใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุรุนแรง
การยุติความรุนแรงในพื้นที่ไม่ได้เกิดจากการ “เจรจา” หรือ “พูดคุย” กับกลุ่มผู้เห็นต่าง เพราะกระบวนการนี้ต้องใช้เวลา แถมยังตอบไม่ได้ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว
ดังนั้น จึงอย่าคาดหวังว่าการมี ศอ.บต.ในโครงสร้างเดิมก่อนถูก คสช.ลิดรอนอำนาจ นั่นจะทำให้ชายแดนใต้ดีขึ้นในทันที เพราะขาที่ 2 คือ “ขาการพัฒนา” จะเดินไปได้รวดเร็วแค่ไหน ในพื้นที่ต้องมีความสงบเรียบร้อยก่อน ถ้ายังเต็มไปด้วยเสียงปืน เสียงระเบิด มีคนเจ็บและตายเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อีกทั้งมวลชนยังเป็นของบีอาร์เอ็นอันเกิดจากมาตรการตรวจค้น จับกุมและจบด้วยวิสามัญฯ สิ่งเหล่านี้ยังคงฉุดรั้งงานด้านการพัฒนาอยู่นั่นเอง
สรุปแล้ว ศอ.บต.ไม่ใช่ “ยาวิเศษ” และเลขาธิการ ศอ.บต.ก็ไม่ใช่ “หมอวิเศษ” ที่จะเยียวยาทุกเรื่องราวของไฟใต้ จึงอย่าได้คาดหวังในทิศทางที่เลิศเลอจนเกินไป