ตรัง - รพ.สต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง ร่วมกับ อบต.กะลาเส ทำงานเชิงรุก ตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดของเกษตรกร เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพ และมุ่งเน้นการผลิตพืชผัก ผลไม้ที่ปลอดภัย ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง ร่วมกับ อบต.กะลาเส ได้ทำโครงการตรวจหาสารเคมีในเลือดของเกษตรกร และผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตพืชที่ปลอดภัย ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนชาวกะลาเส ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ทั้งไว้จำหน่าย และไว้บริโภคในครัวเรือน แต่อาจมีการใช้สารเคมี และสารกำจัดศัตรูพืชอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ หรือใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต และรักษาคุณภาพผลผลิต เนื่องจากรูปแบบการเกษตรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการเกษตรเพื่อการบริโภค มาเป็นการเกษตรเพื่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารพิษ เกิดสารพิษตกค้างในผัก และสะสมในลำห้วย หนอง คลองบึง
ทั้งนี้ ได้มีเกษตรกรเข้าร่วมการเจาะเลือดตรวจในโครงการดังกล่าว จำนวน 113 คน เพื่อเจาะเก็บตัวอย่างเลือดนำไปตรวจวิเคราะห์ 2 อย่าง คือ การตรวจหาสารเคมีในร่างกาย ซึ่งหากพบจะได้รับสมุนไทยรางจืด และเข้าตรวจความเข้มของเลือดให้เกษตรกรด้วยฮีมาโตคริต (hematocrit) เพื่อวัดว่าร่างกายมีเม็ดเลือดแดงพอหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพบใครเลือดจาง รพ.สต.จะให้ยาเฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous sulfate) หรือยาบำรุงเลือด เป็นอาหารเสริมธาตุเหล็กไปกิน 2 เดือน จากนั้นค่อยมาตรวจซ้ำ เพื่อให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เพิ่มความเข้มของเลือด สร้างภูมิต้านทาน ผลปรากฏว่าเกษตรกรมีเลือดปกติ 18 คน ผลเลือดปลอดภัย 27 คน ผลมีความเสี่ยง (รับยาสมุนไพรรางจืด) 31 คน ผลไม่ปลอดภัย (รับยาสมุนไพรรางจืด) 21 คน และผลความเข้มข้นของเลือดต่ำ (รับยาบำรุงเลือด) 16 คน
โดย รพ.สต.กะลาเส เคยตรวจเลือดเกษตรกรในพื้นที่มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2561 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการคัดกรอง 100 คน พบว่ามีกลุ่มไม่ปลอดภัยจากสารเคมี 40 คน คิดเป็นร้อยละ 40 แต่หลังจากให้รับประทานยาสมุนไพรรางจืด พบว่าลดลงเป็นกลุ่มปลอดภัย 33 คน กลุ่มเสี่ยง 4 คน กลุ่มปกติ 3 คน ต่อมาปี 2562 มีเป้าหมายตรวจเลือด 201 คน ผลเลือดมีความเสี่ยง 49 คน คิดเป็นร้อยละ 24.38 ผลเลือดไม่ปลอดภัย 9 คน คิดเป็นร้อยละ 4.48 ส่วนผลการตรวจเลือดประชาชนทั้งจังหวัดตรัง ตั้งแต่ปี 2556-2562 พบว่ามีกลุ่มเสี่ยงจากสารเคมีอยู่ระหว่างร้อยละ 10.63-24.95 และในปี 2562 มีแนวโน้มจะสูงขึ้น ทางจังหวัดตรังจึงได้ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยรางจืด ซึ่งทำให้กลุ่มเสี่ยงกลับไปเป็นกลุ่มปกติได้ถึงร้อยละ 93.5-95.0
ด้านเกษตรกรที่มาร่วมตรวจเลือดหาสารเคมีในร่างกาย ต่างบอกว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะจะได้รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงใดๆ หรือไม่ หากมีจะได้ปรับตัวในการทำการเกษตร การดูแลรักษาตัวเอง การป้องกันตนเอง และผลิตพืชผักที่ได้มาตรฐานปลอดภัย ทั้งตนเองและผู้บริโภค หรือหากมีสารตกค้างในร่างกายจะได้รักษาตัวอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรยุคใหม่จะพยายามไม่ใช้สารเคมีใดๆ แต่จะเปลี่ยนไปใช้ภูมิปัญญาจากพืชสมุนไพรไทย เช่น ใช้ยาเส้นผสมกับใบสะเดา เปลือกตำเสา และเปลือกขี้เหล็ก มาทำน้ำหมัก เพื่อนำไปฉีดรดพืชผัก ส่วนยาฆ่าหญ้าจะใช้เกลือกับผงซักฟอกผสมกันฉีดพ่น แทนการใช้สารเคมี