xs
xsm
sm
md
lg

หมอเตือน! หมอนรองกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท พบในคนหนุ่มสาวมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์กลุ่มงานศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ กล่าวว่า โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท เป็นหนึ่งโรคที่ตรวจพบเป็นประจำ โดยผู้ป่วยจะมีอาการได้ 3 ลักษณะดังนี้

1.มีอาการที่คอ อาจมีอาการปวดต้นคอเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณท้ายทอย และศีรษะ

2.มีอาการที่แขน ได้แก่ ปวดร้าวลงบริเวณสะบัก หัวไหล่ แขน ชาลงแขน และอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมือหรือแขน

3.ในคนไข้ที่มีอาการรุนแรงมากอาจตรวจพบอาการปวดร้าวลงทั้งแขนและขา มีอาการอ่อนแรงของขา ให้เดินได้ไม่ปกติ รู้สึกเหมือนจะล้มง่าย เดินได้ระยะทางสั้นๆ ก็เริ่มจะหมดแรง

สาเหตุของหมอนรองกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท

1.เสื่อมตามอายุที่มากขึ้น

2.เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณกระดูกคอมาในอดีต

3.มีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกคอมาตั้งแต่กำเนิด

4.มีการใช้พฤติกรรมคอไม่ปกติ เช่น ทำงานคอมพิวเตอร์ ก้มๆ เงยๆ คอมากเป็นเวลานาน

ในอดีตจะตรวจพบเจอโรคนี้ในกลุ่มคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุหลักๆ เป็นจากความเสื่อมตามอายุ แต่ในโลกปัจจุบัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป มีการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำให้มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ คอมากกว่าปกติ ทำให้หมอนรองกระดูกคอทำงานหนัก เร่งให้เกิดความเสื่อมเร็วขึ้น จึงทำให้ในปัจจุบันพบโรคนี้ในคนหนุ่มสาวมากขึ้น


การตรวจวินิจฉัยยืนยันโรค แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติมเพื่อเป็นการยืนยัน โดยมักจะพบหินปูนเกาะบริเวณกระดูกคอ อาจตรวจพบความสูงหมอนรองกระดูกคอทรุดตัวลงเมื่อเทียบกับหมอนรองกระดูกที่ปกติ

แนวทางการรักษา


1.ลดการใช้งาน นอนพัก พิจารณาใส่อุปกรณ์รองคอ [Soft Collar] เพื่อหวังผลลดแรงกระแทกที่กระดูกคอ

2.ในช่วงที่อาการกำเริบ แนะนำรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาลดอาการอักเสบของเส้นประสาท เมื่ออาการทุเลาลง แพทย์อาจพิจารณาให้ทานยาวิตามินบำรุงเส้นประสาทต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการฟื้นฟูเส้นประสาท

3.ทำกายภาพบำบัด ควรพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น การดึงคอ [Cervical Traction] อัลตราซาวนด์ลดปวด ใช้คลื่นเสียง Shock Wave ลดปวด ก่อนทำกายภาพบำบัด ควรได้รับการตรวจประเมิน และวางแผนการรักษาจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูโดยตรงก่อนเสมอ

4.ฉีดยาลดการอักเสบบริเวณรากเส้นประสาท ผ่านอัลตราซาวนด์นำวิถี หวังผลลดอาการปวดที่รุนแรงเฉียบพลัน

ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก และผ่านการรักษาโดยวิธีอนุรักษนิยมแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า [MRI] เพื่อประเมินการกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หากรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดต่อไป

สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ www.thedoctorbone.com


กำลังโหลดความคิดเห็น