ตรัง - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชีวภาพ มุ่งต่อยอดผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม ทั้งครีมขัดรองเท้า น้ำยาเคลือบหนัง และสบู่-ครีมบำรุงผิว
นายเกรียงยุทธ ผิวอ่อน วิศวกรชำนาญการพิเศษ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชีวภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ โรงแรมวัฒนา พาร์ค จังหวัดตรัง ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต แผนย่อยอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model
ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อย แต่ได้มาก” ทั้งนี้ BCG โมเดล ประกอบด้วย 3 ระบบเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ B - Bio Economy คือระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C - Circular Economy ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ G - Green Economy คือระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมช่วยส่งเสริมยกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (Value Chain) ให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งและมีศักยภาพ เพิ่มผลิตภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งผลดีต่อประเทศตลอดจนสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยกิจกรรมภายใต้โครงการ ประกอบด้วย กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์) และกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (จำนวน 2 ต้นแบบ) จึงเป็นที่มาของการจัดงานเผยแพร่กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือต่อยอดงานวิจัย เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจ จำนวน 200 คน ได้แก่ ครีมขัดรองเท้า น้ำยาเคลือบหนัง และสบู่-ครีมบำรุงผิว