xs
xsm
sm
md
lg

จ.นราธิวาสเตรียมเดินหน้าสร้างอาคารพักอาศัยแก่ผู้ประสบภัยมูโนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นราธิวาส - จังหวัดนราธิวาส เตรียมเดินหน้าสร้างอาคารพักอาศัยแก่ผู้ประสบภัยมูโนะ ภายใต้แผน “การฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานชุมชนมูโนะ”

วันนี้ (7 ก.ย.) นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายวาศักดิ์ เจิมจิระ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาส ร่วมชี้แจงแนวทางการสร้างอาคารที่พักอาศัยแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุโกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิดที่ตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กรณีบ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งหลัง หรือโครงสร้างบ้านเสียหายเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ตามการประเมินจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาส โดยจากการตรวจสอบมีผู้ประสบภัยที่บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายและเข้าเกณฑ์ จำนวน 80 หลัง แต่เข้าร่วมรับฟังการพิจารณา จำนวน 65 หลัง ซึ่งในรายที่ยังไม่มาแสดงตน เจ้าหน้าที่จะติดต่อเพื่อให้ทุกคนแสดงตน และลงนามในเอกสารสำรวจความต้องการที่พักอาศัยจากเหตุการณ์โกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิด ต.มูโนะ

ซึ่งแบบสำรวจมีสาระสำคัญคือ ชื่อเจ้าของบ้าน บ้านเลขที่มีความประสงค์ต้องการอาคารที่พักอาศัยตามแบบของกรมโยธาธิการและผังเมือง ประกอบด้วย 1.อาคารพักอาศัยแบบที่ 1 (1 ชั้นครึ่ง) อาคาร 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 4.00 เมตร หรือมากกว่า 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 4.00 เมตร (กรณีเจ้าของเดียวกัน) 2.อาคารพักอาศัยแบบที่ 2 (2 ชั้น) อาคาร 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 4.00 เมตร หรือมากกว่า 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 4.00 เมตร (กรณีเจ้าของเดียวกัน) 3.อาคารพักอาศัยแบบที่ 3 (1 ชั้นครึ่ง) อาคาร 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 5.00 เมตร หรือมากกว่า 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 5.00 เมตร (กรณีเป็นเจ้าของเดียวกัน) 4.อาคารพักอาศัยแบบที่ 4 (2 ชั้น) อาคาร 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 5.00 เมตร หรือมากกว่า 1 ยูนิต ขนาดหน้ากว้าง 5.00 เมตร (กรณีเป็นเจ้าของเดียวกัน) โดยยินยอมให้ใช้ผนังร่วมกัน และยินยอมให้ภาครัฐสร้างให้ ทั้งนี้ มูลค่าบ้านตามแบบที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกแบบให้ขนาดหน้ากว้าง 4 เมตร ราคาประมาณ 900,000 บาท หน้ากว้าง 5 เมตร ราคาประมาณ 1,200,000 บาท

โดยจากการสำรวจที่ยึดจากแบบบ้านเดิม พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นบ้านชั้นเดียวหรือ 1 ชั้นครึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการก่อสร้างบ้านเป็นแบบ 1 ชั้นครึ่งให้ทั้งหมด แต่หากบ้านเดิมเป็นแบบ 2 ชั้น จะมีการสร้างแบบ 2 ชั้นให้ ส่วนกรณีผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์ในการก่อสร้างบ้านใหม่ และมีความประสงค์จะสร้างบ้านเอง จำเป็นต้องนำแบบบ้านมาให้ภาครัฐจัดสร้างให้ ภายใต้วงเงินประเมินแบบบ้านที่กำหนด โดยภาครัฐไม่สามารถจ่ายเป็นเงินสดเพื่อให้ผู้ประสบภัยไปสร้างเองได้ตามหลักเกณฑ์ของกองทุนเงินเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ใช้จ่ายเงินในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง ไม่ร่วมค่าแรงการรับเหมาก่อสร้าง จึงต้องนำเงินบริจาคบัญชี “เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ มูโนะ” มาใช้จ่ายในส่วนของค่าแรงผู้รับเหมา และในกรณีบ้านเรือนที่ประเมินว่าเสียหายบางส่วน หากยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการ แต่หากต้องการซ่อมเอง สามารถมาเบิกวัสดุก่อสร้างที่ อบต.มูโนะ หรือนำใบเสร็จมาเบิก ซึ่งหากนำใบเสร็จมาเบิกจะมีการตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นไปอย่างเหมาะสมตามราคาประเมินที่อ้างอิงโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาสหรือไม่ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส มีการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม โดยผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง


นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากเดิมจะทำการจัดรูปที่ดินเพื่อสร้างเมืองใหม่ให้ชาวมูโนะ แต่พบปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์ และระเบียบราชการที่อาจทำให้การก่อสร้างบ้านเรือนให้ผู้ประสบภัยล่าช้า จึงมีการปรับแผนโดยจัดทำในรูปแบบ “การฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานชุมชนมูโนะ” ที่มีรูปแบบคล้ายการจัดรูปที่ดิน ที่ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ระบบระบายน้ำ และระบบเก็บน้ำใต้ดินที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว โดยโฉนดที่ดินเท่าเดิม และบ้านส่วนใหญ่ติดถนนอยู่แล้ว แต่วิธีการนี้สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อได้รับการยินยอมจากผู้ประสบภัยที่เป็นเจ้าของบ้าน ทั้งนี้ พื้นที่ประสบภัยจะได้รับการพัฒนาเพื่อต่อยอดไปเป็นพื้นที่ตลาดชายแดนสำคัญของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งหากผู้ประสบภัยแสดงความประสงค์ให้ภาครัฐสร้างบ้านให้ ภายในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะสามารถลงเสาเข็มได้เลย

ด้านนายวาศักดิ์ เจิมจิระ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า กลุ่มที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง หรือโครงสร้างบ้านเสียหายเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ต้องสร้างบ้านใหม่ มีจำนวน 80 หลัง อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่สำรวจ มีจำนวน 95 หลัง พบว่าบางส่วนผู้ประสบภัยมีความประสงค์จะดำเนินการเอง แต่ยังมีบางหลังที่เปลี่ยนใจให้ภาครัฐสร้างให้ จึงคาดว่าจะมีบ้านเรือนที่รัฐสร้างให้ประมาณ 90 หลัง ส่วนบ้านเรือนที่เสียหายปานกลาง ที่ต้องจัดหาวัสดุ และช่างเข้าไปซ่อมแซม มีจำนวน 543 หลัง ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 148 หลัง ทำหลังคาแล้วเสร็จ แต่คงเหลือการซ่อมองค์ประกอบในตัวอาคารด้านใน จำนวน 298 หลัง ยังไม่ดำเนินการ จำนวน 14 หลัง และมีเครือข่ายเข้ามาช่วยดำเนินการซ่อมสร้าง จำนวน 83 หลัง

น.ส.นิฟารา เปาะอาเดะ ผู้ประสบภัยในพื้นที่โซนไข่แดงที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง กล่าวว่า ตอนแรกยังไม่เข้าใจแนวทางการสร้างบ้านตามแบบที่กำหนด เพราะบ้านเดิมหน้ากว้าง 10x20 เมตร แต่เมื่อได้รับฟังการชี้แจงของเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาส ทำให้เข้าใจมากขึ้น และยินดีที่จะให้ภาครัฐสร้างบ้านให้ โดยสร้างขนาด 5X16 เมตร จำนวน 2 ยูนิต

ด้าน น.ส.ดียานิง สาเมาะ ผู้ประสบภัยโซนไข่แดงที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง กล่าวว่า บ้านเดิมจะมีทั้งปลูกสร้างบนที่ดินของตนเอง และเช่าที่ดินของบุคคลอื่น ซึ่งเลือกให้ภาครัฐสร้างบ้านให้ในที่ดินของตนเอง โดยเป็นแบบ 5x16 เมตร จำนวน 5 ยูนิต โดยจากการรับฟังแนวทางการก่อสร้างบ้านเรือน รู้สึกพอใจกับแนวทางนี้ และอยากให้เร่งก่อสร้างบ้านเรือนให้ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ นายอูเซ็ง สมานกุลวงศ์ ผู้ประสบภัยที่อยู่นอกโซนไข่แดง แต่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาส ประเมินความเสียหายไว้มูลค่า 3.8 ล้านบาท แต่ตนเองมีคามประสงค์จะสร้างบ้านเอง จึงต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือตามสิทธิที่พึงได้รับ เช่นเดียวกับผู้ประสบภัยที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง และภาครัฐจัดสร้างให้ ซึ่งกรณีนี้ได้รับการชี้แจงแล้วว่าสามารถนำแบบการก่อสร้างมายื่นให้เจ้าหน้าที่ เพื่อทำการเบิกวัสดุก่อสร้างไปดำเนินการเอง แต่ไม่สามารถจ่ายเป็นเงินสดให้ได้ เพราะเป็นไปตามระเบียบราชการ


กำลังโหลดความคิดเห็น