xs
xsm
sm
md
lg

ทน.สุราษฎร์ฯแจงราคาก่อสร้างหอนาฬิกาไม่ผิดปกติ หลังชมรม STRONG โพสต์ตั้งข้อสงสัยราคาสูงผิดปกติ ด้านชาวบ้านชมสวย รับได้ 6 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุราษฎร์ธานี – เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี แจงราคาก่อสร้างก่อสร้างหอนาฬิกาไม่ผิดปกติเป็นไปตามราคากลาง หลังชมรมSTRONGต้านทุจริต โพสต์รูปภาพและข้อความว่าราคาสูงผิดปกติ  ชาวบ้านชมสวย รับได้ราคา 6 ล้าน

จากกรณี ชมรม STRONG ต้านทุจริต จังหวัดสุราษฎร์ธานี โพสต์รูปภาพและข้อความ โครงการก่อสร้างหอนาฬิกา ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยประชาชนต่างตั้งข้อสังเกตในประเด็นราคาที่สูงผิดปกติ.ไม่ใช่งานปั้นมือ แต่เป็นงานเอาแบบสำเร็จมาประกอบ จนมีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากประกอบกับทางสื่อทีวีและออนไลน์นำไปเสนอต่อ


ล่าสุดวันนี้ (6 ก.ย.66) นายประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีได้มอบหมายให้นายเอกสิทธิ์ สังหอ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมการก่อสร้าง และ นายนำศักดิ์ ไทยถาวร สถาปนิกชำนาญการพิเศษ ผู้ออกแบบ ชี้แจงรายละเอียดต่อผู้สื่อข่าว โดยทั้งคู่ได้อธิบายว่า คณะผู้บริหารเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ได้มีแนวนโยบายในการก่อสร้าง “หอนาฬิกา” ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ หรือสร้างอัตลักษณ์ของเมือง เพื่อสร้างจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือเป็นจุดนัดพบของประชาชน มีนาฬิกาบอกเวลาที่ได้มาตรฐาน และเป็นไปตามแนวนโยบายของคณะผู้บริหารฯ ที่แถลงต่อสภาเทศบาลนคร สุราษฎร์ธานี ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย 9 นครต้นแบบ คือ “นครน่าเที่ยว”

แนวคิดการออกแบบ“หอนาฬิกาเมืองคนดี รูปแบบศรีวิชัย” ให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถบอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบผ่านประติมากรรม ประกอบเรือนธาตุชั้นที่ 1 หอนาฬิกา ทั้งสี่ทิศ ดังนี้ ด้านทิศเหนือ ประติมากรรม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นด้านซึ่งมีที่ตั้งของพระบรมธาตุไชยา เป็นที่ค้นพบหลักฐาน เป็นประติมากรรมสำริดส่วนองค์ท่อนบนของพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ศิลปะศรีวิชัย ค้นพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นหนึ่งในประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่สวยงามและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศไทย ได้รับสมญานามว่า “ประติมากรรมที่ชำรุด แต่สวยที่สุดในสยาม”


ด้านทิศใต้ ประติมากรรม ยอดพระธาตุศรีสุราษฎร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระธาตุเจดีย์หนึ่งเดียว ที่ประดิษฐานในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บนยอดเขาท่าเพชร ห่างจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ประมาณ 8 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงนมัสการ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2502 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นครั้งแรก ปัจจุบันทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดงานประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุ แลธรรมชาติเขาท่าเพชร เป็นประจำทุกปี และเป็นพระธาตุเจดีย์หนึ่ง เดียวในประเทศไทยที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

ด้านทิศตะวันออก ประติมากรรม หน้าบันอุโบสถ และทวารบาลอุโบสถวัดพัฒนาราม พระอารามหลวง พระอุโบสถวัดพัฒนา สร้างเมื่อพุทธศักราช 2439 โดยหลวงพ่อพัฒน์ นารโท อดีตเจ้าอาวาสพัฒนาราม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่เคารพศรัทธาของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียง ภายในมีจิตรกรรม ฝาผนังที่มีความสวยงาม แสดงพุทธประวัติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านดอน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 ซึ่งห่างจากหอนาฬิกามาทางทิศตะวันออกประมาณ 700 เมตร

ด้านทิศตะวันตก ประติมากรรม หัวพญานาคสามเศียร และฉัตรเบญจาห้าชั้น มีพระจันทร์วันแรม 1 ค่ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เรือพนมพระและเรือพระทางสายน้ำตาปี ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นิยมออกแบบทำหัวเรือหรือโขนเรือเป็นรูปพญานาค ลำเรือประดับด้วยราชวัตร ฉัตร ธง ที่มีเอกลักษณ์ ได้สื่อถึงงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นงานบุญออกพรรษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ตลอดแนวถนนบ้านดอนด้านทิศตะวันตกของหอนาฬิกาเป็นจุดจอดเรือพนมพระ เพื่อให้พี่น้องพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว ได้ร่วมทำบุญไม่ต่ำกว่า 100 วัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มารอรับให้ได้ทำบุญหยอดเรือพระ รับน้ำพระพุทธมนต์ และรับสายมงคลข้อมือ


การออกแบบลวดลาย เส้นสายลายไทยประยุกต์ บริเวณฐานด้านล่างประติมากรรม ได้ประดับลายให้มีดอกบัวผุด ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างเอกลักษณ์ของลายไทยให้ลงตัวเหมาะสม ใต้ซุ้มจรนำชั้นที่ 1 ประดับด้วยตราสัญลักษณ์เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ใต้ซุ้ม จรนำชั้นที่ 2 ประดับด้วยตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นาฬิกา ได้ออกแบบกำหนด ชนิด 4 หน้าปัด 4 ด้าน ชนิดมีตัวเรือน หน้าปัดนาฬิกาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร บอกเวลาตรงกันทั้งสี่ด้าน เทียบเวลาโดยให้สามารถเชื่อมต่อเวลามาตรฐานโลก GMT (Greenwich Mean Time) พร้อมออกแบบโปรแกรมส่งสัญญาณบอกเวลา แบบนาฬิกา Big-ben, เสียงเพลงชาติ และกลไกสำหรับตีระฆัง และเครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้าตกหรือไฟเกิน ขนาด 1,000 VA.ระฆัง(สัมฤทธิ) ประจำหอนาฬิกา ต้องการให้เป็นระฆังไทยที่มีเสียงดังกังวาน ออกแบบและสร้างหล่อเป็นหนึ่งเดียวในโลก มีการออกแบบวาดลายไทย สอดใส่สัญลักษณ์ที่เป็นโลโก้ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และวางระบบกลไกบังคับในการเคาะตีระฆังโดยอัตโนมัติ สอดคล้องกับการบอกเวลา

ระบบแสงสี ได้ออกแบบประดับไฟ ให้สามารถเล่นไฟสลับเปลี่ยนสีได้ หลากสี ตามจังหวะไปตามเสียงเพลงประจำจังหวัด ในเวลาที่กำหนดช่วยเพิ่มสีสันให้กับหอนาฬิกาในเวลากลางคืนให้มีความ โดดเด่น สวยงาม เป็นแลนด์มาร์คของนครสุราษฎร์ธานี

การออกแบบก่อสร้างหอนาฬิกา ได้นำสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) เข้ามาช่วยในการกำหนดสัดส่วนภาพรวมของโครงการ เพื่อให้สัดส่วนของอาคาร มีความสวยงามลงตัวตามทฤษฎีศิลปะสากลผสมผสานกับวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีนิยม มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นที่น่าภาคภูมิใจกับท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งประโยชน์กับทางราชการและจังหวัด สุราษฎร์ธานีต่อไป


พร้อมยืนยันว่า การประมูลการก่อสร้างจำนวน 6.8 ล้านบาทเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นราคากลางที่ไม่สูง ซึ่งในบางจังหวัดก่อสร้างด้วยงบประมาณกว่า 10 ล้านบาท

ในขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวต่างบอกว่า ชอบที่เทศบาลได้ดำเนินการก่อสร้างหอนาฬิกาเป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของชาวเมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อถามถึงราคาการก่อสร้าง 6 ล้านเศษ ชาวก็บอกว่าไม่น่าจะแพงและสถานที่ก็เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น