xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้น “กุ้งไทย” ช่วยเศรษฐกิจชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟื้น “กุ้งไทย” ช่วยเศรษฐกิจชาติ

โดย อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์

ก่อนหน้านี้ “กุ้ง” เป็นสินค้าที่บริโภคกันในประเทศเพียง 10% ของผลผลิตทั้งหมด อีก 90% นั้นส่งออกไปขายต่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นสินค้าฮีโร่ที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยนับแสนล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้กลับพบว่ากุ้งไทยกำลังมีราคาตกต่ำจนเป็นเหตุให้เกษตรกรเรียกร้อง “รัฐบาลใหม่” ที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้เร่งแก้ไขความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงกุ้งทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

นายอักษร ขจรกาญจนกุล ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยพัฒนาเพื่อความยั่งยืน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เล่าว่า “เมื่อก่อนประเทศไทยมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งไม่กี่แสนไร่ แต่มีผลผลิตได้ 5-6 แสนตัน มูลค่ามหาศาล ปัจจุบันไทยเราผลิตกุ้งไม่รู้จะได้ถึง 2 แสนตันหรือไม่ มูลค่าที่หายไปถ้าเทียบกับรายได้ของประเทศก็มหาศาล เราถูกรุกรานอาชีพจากนโยบายรัฐที่ผิดพลาดจากการนำเข้ากุ้งต่างประเทศ การที่ไม่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การไม่ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ช่วยเหลือในเรื่องภาระต้นทุนการผลิต และปล่อยให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระนั้น จนอาจทำให้อาชีพผู้เลี้ยงกุ้งสูญพันธุ์ได้ในไม่ช้า”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ประเทศไทยมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกกุ้งมากที่สุดคือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 201,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 55,893 ล้านบาท ปริมาณลดลง 53.90% และมูลค่าลดลง 44.72% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 เนื่องจากในช่วงปลายปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงต่อวงการอุตสาหกรรมกุ้งของไทย และจนป่านนี้ผลผลิตภายในประเทศยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับปี 2553

สิ่งที่เกษตรกรเรียกร้องจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการทันที เพราะผู้ผลิตกุ้งในโลกไม่ได้มีแค่ประเทศไทย คู่แข่งของบ้านเรายังมีอีกเยอะ รัฐบาลแต่ละประเทศมีการทุ่มเทวิจัย พัฒนา แก้ปัญหาเรื่องโรค และใช้ประโยชน์ในด้านภูมิประเทศของเขาอย่างเต็มที่ ทำให้แต่ละประเทศมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ตีตลาดแย่งลูกค้าของไทยเราไปอย่างง่ายดาย ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีแนวทางใดๆ ที่ชัดเจนในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างจริงจังเสียที จนเป็นเหตุให้สถานการณ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ทราบว่ากรมประมงตั้งเป้าผลผลิตกุ้งไทยในปี 2566 ไว้ที่ 400,000 ตัน ซึ่งไม่รู้ว่าขณะนี้ทำไปได้กี่ตันแล้ว และแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างยั่งยืนที่เกษตรกรรวมตัวกันเสนอไว้มีความคืบหน้าไปถึงไหนอย่างไร คงต้องฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรใน ครม.เศรษฐา 1 ช่วยตรวจสอบ ซึ่งประกอบไปด้วย 1) มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน และทำได้จริงหรือไม่ 2) ปัญหาโรคระบาด มีการแก้ไขให้เบ็ดเสร็จสำเร็จหรือยัง 3) รูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม ทุกขนาด มีการจัดการไว้อย่างไร 4) การส่งเสริมเกษตรกรให้เข้าถึงสินเชื่อจากแหล่งเงินทุน โดยสนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างฟาร์มและโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดโลกต้องการนั้น ดำเนินการไปถึงไหน 5) สร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึง การเจรจา FTA ไปแล้วอย่างไร ข้อนี้สำคัญมากกับการเปิดตลาดกุ้งไทยในเวทีโลก 6) มีการสร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมแล้วหรือยัง และ 7) ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างไรบ้าง

อันที่จริงผู้เลี้ยงกุ้งไทยจัดได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญติดอันดับโลก มีวิสัยทัศน์ และพร้อมมากที่จะพัฒนายกระดับกุ้งของไทยให้มีความเป็นกุ้งพรีเมียม เพื่อเลี่ยงตลาดระดับล่างที่มีคู่แข่งจำนวนมากอย่างเอกวาดอร์และอินเดีย ถ้าเพียงได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลในทุกแนวทางดังกล่าวข้างต้น โดยวางตำแหน่งสินค้ากุ้งไทยให้เหนือชั้นกว่ากุ้งประเทศอื่น รับรองได้เลยว่ากุ้งไทยจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจชาติได้ไม่ยาก ไม่ใช่เอะอะก็นำเข้ากุ้งต่างชาติมาแปรรูปทดแทนการใช้กุ้งไทย เพราะนั่นเท่ากับบอนไซอุตสาหกรรมกุ้งของพวกเรากันเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น