ตรัง - ชื่นชมชาวบ้านเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง ที่ร่วมใจกันช่วยชีวิต “ไอ้ลาย” พะยูนเพศผู้ ที่หนักถึง 300 กก. ขณะกำลังเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดของหมู่บ้าน จนสามารถนำกลับคืนสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัย
ชาวบ้านเกาะมุกด์ หมู่ 2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้ถ่ายคลิปวิดีโอพะยูน สัตว์อนุรักษ์คู่จังหวัดตรัง แบบตัวเป็นๆ อย่างชัดเจน และสุดน่ารัก ความยาวประมาณ 5 นาที ขณะที่ชาวบ้านเกาะมุกด์ประมาณ 10 คน พยายามเร่งหาวิธีช่วยชีวิต “ไอ้ลาย” พะยูนเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 300 กก. ยาวประมาณ 3 เมตร ที่กำลังนอนเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดของหมู่บ้าน
ทั้งนี้ เนื่องจากพะยูนเพศผู้ตัวนี้มีรอยแผลเป็นลักษณะขีดข่วนจากการต่อสู้กับตัวอื่นมาที่บริเวณแผ่นหลัง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “ไอ้ลาย” และเป็นพะยูนตัวที่อาศัยหากินหญ้าทะเลอยูในบริเวณทะเลหน้าเกาะมุกด์ รวมทั้งที่สะพานเป็นถิ่นประจำ ซึ่งมีหญ้าทะเลอาหารของพะยูนอุดมสมบูรณ์ ทำให้นักท่องเที่ยวพบเห็นได้ทุกวัน คุ้นเคยกับคนและเรือ จนเป็นที่รักและหวงแหนของชาวบ้าน ร่วมกันดูแลสอดส่อง
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง โดยเชื่อว่าเมื่อน้ำทะเลขึ้นสูง ไอ้ลาย หากินหญ้าทะเลไปเรื่อยๆ แต่พอน้ำทะเลลดลง พะยูนเพศผู้ตัวนี้กลับกินหญ้าจนเพลิน ลงกลับตามน้ำทะเลไม่ทัน เป็นผลทำให้เกยตื้น โชคดีที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเกาะมุกด์ไปพบเห็น จึงได้พยายามช่วยกันนำไอ้ลายลงกลับคืนสู่ทะเลอย่างทุลักทุเลด้วยความปลอดภัย
ทั้งนี้ ผู้คนที่เห็นคลิปดังกล่าวซึ่งมีการแชร์กันบนโลกออนไลน์ ต่างชื่นชมชาวบ้านเกาะมุกด์ ที่รู้วิธีการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้น ด้วยการไม่ลาก ไม่ยกหาง ไม่ดึงครีบ แต่พยายามหาอุปกรณ์มาช่วย คือการนำอุปกรณ์ หรือวัสดุมารองตัวของพะยูน ซึ่งคือสแลนกันแดด และใช้วิธีตักน้ำราดรดตัวพะยูนตลอดเวลาเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
จากนั้นพยายามให้ไอ้ลาย เข้าไปอยู่ในสแลนดังกล่าว โดยที่พะยูนเพศผู้ตัวนี้ไม่ดิ้นรนมากนัก เพราะคงรับรู้ว่าชาวบ้านกำลังช่วยชีวิต และปกติคุ้นชินกับคนอยู่แล้ว จนสามารถหามนำไอ้ลายไปปล่อยลงทะเลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งวิธีการช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นนั้น เป็นวิธีที่ชาวบ้านที่อยู่กับทะเล และอยู่กับพะยูน ได้เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นในท้องทะเลตรังบ่อยครั้ง ทำให้ทุกคนที่เห็นคลิปดังกล่าวเข้าไปแสดงความชื่นชมชาวบ้านเกาะมุกด์เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับบ้านเกาะมุกด์ นอกจากไอ้ลายแล้ว ขณะนี้ยังมีพะยูนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นประจำเพิ่มขึ้น รวมแล้วประมาณ 4-5 ตัว ทำให้ชาวบ้านต้องช่วยกันดูแล และสอดส่องพะยูน เพราะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเกาะมุกด์มากยิ่งขึ้นด้วย โดยชาวบ้านต่างช่วยกันดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งการรักษาหญ้าทะเล อาหารของพะยูน การไม่วางอวนจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งที่พะยูนหากิน
นอกจากนั้น ยังมีการงดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายกับพะยูน การระมัดระวังในการเดินเรือ การวางทุ่นกำหนดเขตเดินเรือ รวมทั้งการเก็บขยะ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลให้มากขึ้น รวมทั้งช่วยกันตรวจตราเรือประมงไม่ให้เข้าไปหากินใกล้แหล่งพะยูน จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปเที่ยวเกาะมุกด์ เพื่อไปดูพะยูน สร้างรายได้เข้าพื้นที่เป็นจำนวนมาก