สตูล - ชาวอาชีวะสตูลออกมาคัดค้านการตั้ง “มหาวิทยาลัยสตูล” ด้วยการหลอมรวม 3 อาชีวะใน จ.สตูล พร้อมมองมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ถึงได้ใช้แนวคิดนี้
วันนี้ (4 ก.ย.) จากประเด็นการตั้ง “มหาวิทยาลัยสตูล” ได้กลับมาเป็นที่วิพากษ์อีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีแนวคิดที่จะหลอมรวม 3 อาชีวะใน จ.สตูล คือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล มีนักศึกษาราว 600 คน วิทยาลัยเทคนิคสตูล มีนักศึกษาราว 2,000 คน วิทยาลัยการอาชีพละงู มีนักศึกษาราว 1,000 คน และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล ที่นักศึกษาราว 200 คน มาหลอมรวมกันเพื่อตั้งมหาวิทยาลัยสตูลนั้น
ในประเด็นนี้ได้มีกระแสการต่อต้านจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล ที่จะผลักดันตัวเองเป็นมหาวิทยาลัย โดยไม่จำเป็นต้องหลอมรวมด้วยการดึงอาชีวะ เพื่อความหลากหลายของการศึกษาอย่างแท้จริง โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เลือกตามความสมัครใจ ตามความต้องการ ตามกำลังทุนทรัพย์ เพื่อให้เหมาะกับตัวเอง และเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กับการจัดการศึกษาที่อาชีวศึกษาใน จ.สตูล มีความเห็นด้วยหรือไม่ ในการหลอมรวมวิทยาลัยเทคนิคสตูล ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล จึงมีการทำประชามติภายในวิทยาลัยเทคนิคสตูลขึ้น พบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการหลอมรวม
“ครูกิ๊บ” นางธิษณา บำรุงเมือง เปิดเผยว่า บริบทของมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคต่างกันมาก ตนเป็นครูอยู่อาชีวะมา 30 ปี จะเห็นว่าเด็กอาชีวะเป็นอย่างไร 1.มีฐานะยากจน 2.ทักษะการเรียนเข้าระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้ เด็กอาชีวะอาจจะไม่เก่งทางด้านทางวิชาการ แต่สิ่งที่เจอมาตลอด คือซ่อมไฟได้ เปิดบริษัทเป็นของตัวเองได้ บางครั้งทางวิชาการไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต
ด้านนายวิเชียร บุญเตี่ยว ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสตูล กล่าวว่า สถานการณ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล โดยใช้วิธีการหลอมรวม ด้วยความเป็นบริบทการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ อาชีวศึกษาที่ตั้งขึ้นเพื่อผลิต และพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ประเทศที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมือ คือ ปวช. และ ปวส. ขณะนี้วิทยาลัยเทคนิคสตูล ได้ผลิตเด็กในระบบอยู่ที่ 2,000 คน หากเทียบในประเภทเดียวกันกับอาชีวศึกษาถือว่าเป็นขนาดกลาง
แต่เรายังมีนอกระบบซึ่งเกิดจากความร่วมมือของโรงเรียน และความต้องการของชุมชน เป็นโมเดลเด็กเข้ามาสัมผัสโลกของอาชีพจริงๆ ทุกวันพฤหัสบดีจะมีเด็กเข้ามาเรียน และฝึกอบรมในช่วงวันเสาร์ และอาทิตย์ฟรี 100% อยู่ประมาณ 2,100 คน ในปีการศึกษาที่ผ่านมา
หากถามว่าวิทยาลัยเทคนิคมีความพร้อมในการเปิดปริญญาตรีหรือไม่ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสตูล ยังยืนยันว่า มีความพร้อมอยู่แล้ว 2 สาขา คือเทคโนโลยียานยนต์ และภาควิชาการตลาด มีเด็กเรียนและจบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 รุ่น
พร้อมจะสอบถามกลับไปว่า หากมองเห็นศักยภาพของสถานศึกษาแห่งนี้ว่ามีคุณภาพ การเติมงบประมาณมาที่นี่ โดยจะทำให้ดูว่ามีคุณภาพอย่างไร เพราะจาก 400 แห่งอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิคสตูล สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้ว แม้เด็กจะไม่มีตัวเลือกมาก แต่สามารถคว้ารางวัลการแข่งขันทักษะชนะเลิศมาแล้วหลายรายการ
“วันนี้เกิดคำถามมากมายจากอาชีวศึกษาทั้ง 3 วิทยาลัย ไม่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาฝีมือให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพเท่ามหาวิทยาลัยได้หรือ จังหวัดสตูลพัฒนาได้โดยไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวตนของการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่จัดให้คนทุกช่วงวัย”