คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว “ตำรวจ” และ “อาสาสมัคร (อส.)” ที่เสียชีวิต 4 นาย รวมถึงผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง จากการถูกกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น โจมตีหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
ในเวลาใกล้เคียงกัน กองกำลังบีอาร์เอ็นยังก่อวินาศกรรมเสาไฟฟ้าในพื้นที่ด้วย 2 จุด และซุ่มโจมตีรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงของ ฉก.พท.44 ที่บ้านมะนังดาลัม อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้รถบรรทุกเสียหายและกำลังพลอีก 2 นายได้รับบาดเจ็บ
แน่นอนหน้าที่ของ "กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า" นอกจากจะส่งระดับนำ “เดินสาย” แสดงความเสียใจ วางหรีดและจ่ายเงินช่วยเหลือจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติแล้ว ยังต้องตรวจที่เกิดเหตุ หาหลักฐานเอาผิดผู้ลงมือ ติดตามไล่ล่าตรวจค้น และมักจะจบลงด้วยการ “คว้าน้ำเหลว” เกือบทุกครั้ง
แน่นอนต้องมีการ “ค้นหาสาเหตุ” ตามสำนวนที่ว่า “ไม่มีมูลฝอย หมาไม่ขี้” อย่างกรณีคาร์บอมบ์ 4 แยกอรกานต์ กลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้ข้อสรุปเป็นฝีมือ “ขบวนการสินค้าเถื่อนข้ามชาติ” ที่ไม่พอใจหลังถูกปิดกั้นชายแดนจนสร้างความเสียหาย เพื่อบอกนัยถึงหน่วยงานความมั่นคง
ส่วนปฏิบัติการหน้าเทศบาลตำบลยะรังดังกล่าว นอกจาก “ตอบโต้” การปิดล้อมและวิสามัญฯ คนของบีอาร์เอ็น 2 ศพที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อหลายวันก่อนแล้ว ยังเป็น “ตามวงรอบ” รับวันสัญลักษณ์คือ 31 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันครบรอบวันประกาศเอกราช หรือ “เมอร์เดก้า” ของมาเลเซีย รวมทั้งการก่อตั้งของขบวนการบีอาร์เอ็นด้วย
เรื่องนี้ต้องบอกว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “รู้ดี” ว่าเดือนสิงหาคมปีนี้ บีอาร์เอ็นต้องก่อเหตุใหญ่เหมือนกับทุกๆ ปีในห้วง 19 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ที่ผ่านมา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องตั้งคำถามต่ออีกว่า เมื่อรู้แล้วทำไมจึงไม่หามาตรการป้องกันให้เป็นผล ทำไมจึงยังปล่อยให้เกิดความสูญเสียได้อย่างที่เห็น
เชื่อว่าเรื่องนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่มีคำตอบให้แน่นอน เพราะไม่รู้ว่ากองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นอยู่ที่ไหนและเคลื่อนไหวอย่างไร ดังนั้นการป้องกันเหตุจึงเป็นไปแบบ “มะงุมมะงาหรา” หรือใครจะเรียกว่า “งมโข่ง” หรือ “สะเปะสะปะ” หรือ “ไม่มีจุดหมายชัดเจน” หรืออะไรต่อมิอะไรอีกมากมายก็ได้
การที่ครั้งนี้ตำรวจกับ อส. ของ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เสียชีวิตถึง 4 ศพ ถือเป็นหนึ่งใน “แผนลาดตระเวน” เพื่อป้องกันการก่อเหตุที่อยู่ในสายตาของ “แนวร่วม” มาโดยตลอด เมื่อ “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” หน้าที่ทำการเทศบาลตำบลยะรังจึงถูกกำหนดให้เป็น “ทุ่งสังหาร” และได้ผลตามแผนของบีอาร์เอ็น
ปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นไม่มีอะไรใหม่ กล่าวคือ ลอบวางระเบิดแสวงเครื่องก่อนเข้าโจมตี แล้วช่วงล่าถอยเป็นไปอย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็น “สูตรสำเร็จ” แต่ที่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ คือใช้ “ปืนกล M 60” ที่เคยปล้นไปได้จากการโจมตีหน่วยทหาร
จุดอ่อนของฝ่ายทหาร ตำรวจ รวมถึงกองกำลังท้องถิ่นอย่างทหารพราน และ อส.คือ “งานการข่าวไร้ประสิทธิภาพ” หรือแทบไม่มี “สายข่าว” ใกล้ชิดกับแนวร่วมหรือกองกำลังติดอาวุธฝ่ายตรงข้ามที่เคลื่อนไหวอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ รวมทั้งเกาะติดระดับแกนนำในมาเลเซียที่เป็น “ฐานที่มั่นหลัก” ของบีอาร์เอ็น
“ศูนย์สันติวิธี” และศูนย์อะไรต่ออะไรที่ตั้งขึ้นมากมายรองรับ “กระบวนการเจรจาสันติภาพ” เชื่อไหมว่า ไม่เคยเห็นภาพได้ไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับ “กลุ่มผู้เห็นต่าง” แต่ภาพถ่ายกับบรรดาผู้นำองค์กรภาคประชาชนที่เป็น “กลุ่มผู้เห็นด้วย” นี่เยอะแยะ จึงไม่แปลกที่มักจบลงด้วย “ใช้งบประมาณ” ได้เกือบครบถ้วนตลอด
จึงอยากถามว่า “แนวร่วม” หรือ “แกนนำ” บีอาร์เอ็นใน อ.ยะรัง อ.หนองจิก อ.ทุ่งยางแดง อ.มายอ ของ จ.ปัตตานี เคยไปคุยกับพวกเขาบ้างหรือไม่ หรือเอาแค่ “แกนนำนักศึกษา” ที่ถือเป็น “ภาคประชาสังคม” ใต้ปีกฝ่ายทางการเมืองของบีอาร์เอ็น คนรุ่นใหม่เหล่านั้นเคยไปทำความเข้าใจอะไรด้วยไหม
นี่หรือไม่ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ "ไม่" เกิดการ “รู้เขา รู้เรา” จนกลายเป็นไม่มีมวลชน ทำให้เข้าไม่ถึงการข่าว เมื่อเป็นเช่นนี้การถูกฝ่ายบีอาร์เอ็น “โจมตีร้อยครั้ง” ก็ทำให้ “สูญเสียร้อยครั้ง” จนเป็นเหตุผลให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องหันมาเลือกที่จะสร้างความสูญเสียให้แก่ฝ่ายบีอาร์เอ็นบ้างได้ทางเดียวคือ มาตรการ “ปิดล้อมแล้ววิสามัญฯ”
เชื่อไหมว่าดูเหมือนเป็น “ชัยชนะ” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็จริง แต่กลับกลายเป็น “เปิดจุดอ่อน” เสียมากมาย เพราะรัฐต้องสูญเสียมวลชนให้บีอาร์เอ็นทุกครั้งที่มีการวิสามัญฯ สังเกตจากพิธีศพที่ตามมาด้วยการยกย่องให้การกระทำของผู้ตายเป็น “ซาอีด” หรือกลายเป็น “วีรชนผู้พลีชีพ” นั่นเอง
เชื่อเถอะถ้างานการข่าวยังล้มเหลว งานเจรจาสันติภาพยังเป็นพูดคุยกันเอง โดยเฉพาะ “เสียงนินทา” ในหมู่ “ผู้นำทหาร” ด้วยกันเองมีแต่จะดังก้องขึ้นเรื่อยๆ ว่า “งบประมาณ” ทำไมไปตกอยู่แต่ใน “กระเป๋านาย” สถานการณ์ไฟใต้ก็จะยังย่ำอยู่กับที่ในแบบเดิมๆ คือ เมื่อตายก็ไปวางหรีดและจ่ายเงินเยียวยาถือว่าจบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเพื่อไทยส่ง “สุทิน คลังแส” ไปนั่ง รมว.กลาโหม ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า “ครูใหญ่” จะถือ “ไม้เรียว” ไปจัดระเบียบกองทัพได้ระดับไหน โดยเฉพาะจะจัดการกับ “งบประมาณ” รวมถึง “โยกย้ายแม่ทัพนายกอง” ที่เอื้อต่อการดับไฟใต้ได้ดีหรือไม่ อย่างไร
ที่สำคัญต้องจับตาใกล้ชิดว่า “พลเรือน” ที่นั่งบัญชาการกระทรวงกลาโหมจะเปิดกว้างรับฟังสถานการณ์ไฟใต้จากภาคส่วนอื่นๆ หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา “นายพลบนหอคอยงาช้าง” เลือกเชื่อแต่รายงานเรื่องดีๆ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือชอบชื่นชม “ดอกไม้บนพรม” แต่ไม่ยอมยกดู “ขยะใต้พรม” ที่ถูกซุกรอเก็บกวาดไว้มากมาย
ก็ได้แต่หวังว่า “สุทิน คลังแสง” คงไม่เก่งแต่ปากแบบที่สังคมคุ้นชินการอภิปรายในสภา แต่มีความกล้าหาญที่จะผ่าตัดเอาเนื้อเน่าออกจาก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เนื่องเพราะ “พรรคเพื่อไทย” คือผู้ริเริ่มสร้าง “กระบวนการเจรจาสันติภาพ” รวมถึงพร้อมที่จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง!