ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เตรียมเดินหน้าเมืองต้นแบบที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ยกข้อมูลการสำรวจมีผู้เห็นด้วยร้อยละ 80 ฝ่ายหนุนเตรียมตบเท้าเข้ากรุงขอพบ “นายกฯ เศรษฐา” ให้เร่งผลักดัน หลังเสียเวลามาแล้ว 3 ปี
วันนี้ (1 ก.ย.) แหล่งข่าวจากฝ่ายงานมวลชนในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ เมืองต้นแบบที่ 4 หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เปิดเผยว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ 2 ท่าด้วยกัน เพื่อเป็นเกตเวย์ที่ 3 ของประเทศไทยในการส่งออก ซึ่งผลักดันโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเห็นชอบโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้มีความคืบหน้าของโครงการ โดยอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนแม่แบบจากการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงรายละเอียดของโครงการดังกล่าว
“ก่อนหน้านี้ ศอ.บต.ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้ว แต่ถูกต่อต้านโดยเอ็นจีโอว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่สมบูรณ์ และรัฐบาลได้สั่งการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำแผนแม่บทรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง รวมทั้งในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสภาพัฒน์ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นว่า สงขลาเป็นเมืองที่เติบโตด้านอุตสาหกรรมเป็นด้านหลัก ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว และอื่นๆ เป็นเรื่องที่รองลงมา โดยการจัดทำแผนแม่แบบจะใช้เวลาถึงปี 67 เพื่อที่จะสรุปนำโดยสภาพัฒน์ในการนำเสนอให้รัฐบาลทราบต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ด้านนายยงยุทธ ละอองจิต ผู้รับผิดชอบงานการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ของบริษัท ทีพีไอ เปิดเผยว่า ขณะนี้มวลชนผู้สนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือโครงการอุตสาหกรรมจะนะได้ทำเอกสารที่เป็นความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการของเมืองต้นแบบที่ 4 โดยจะนำตัวแทนของประชาชนทุกสาขาอาชีพเข้าพบกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการเร่งรัดในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ก่อนที่กลุ่มทุนจากต่างประเทศจะถอนออกไปเพราะความล่าช้าของรัฐบาล เพราะผ่านไปแล้ว 3 ปี ที่การขับเคลื่อนเป็นไปด้วยความล่าช้า
นายยงยุทธ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและคนในพื้นที่ ซึ่งมีภาวการณ์ว่างงาน ทั้งคนในพื้นที่และนักศึกษาที่จบออกมาและยังไม่มีงานทำ ก่อนหน้านี้ ศอ.บต.ได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดสงขลาประชุมจัดทำแผนการผลิตนักศึกษาของแต่ละสถาบัน เพื่อให้มีการผลิตนักศึกษาที่ตรงกับสายงานของนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นการรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ ซึ่งน่าเสียดายที่โครงการนี้มีความล่าช้า เพราะการคิดค้านของเอ็นจีโอจนทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียโอกาสในการพัฒนาที่ ศอ.บต.ตั้งเป้าเอาไว้
“เราหวังว่า พรรคเพื่อไทยจะเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการแก้ปัญหาการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการเร่งผลักดันโครงการนี้ให้รวดเร็วกว่าแผนเดิม” นายยงยุทธ กล่าว