ชุมพร - สื่อมวลชนจีนเยี่ยมชมกระบวนการผลิต ซื้อขายทุเรียนส่งออก ด้านผู้ว่าฯชุมพร การันตีผลผลิตมีคุณภาพ เผยปี 2566 ส่งออกแล้วกว่า 3 แสนตัน มูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
วันนี้ (1 ก.ย.) นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ได้มีคณะสื่อมวลชนจากเซี่ยเหมินทีวี สาธารณรัฐประชาชนจีน มาเยี่ยมชมประเด็นกระบวนการผลิต และการซื้อขายทุเรียนของผู้ส่งออก และนำสื่อมวลชนดูกระบวนการบริหารจัดการโรงคัดบรรจุเรียน ณ โรงคัดบรรจุทุเรียน KAF IMPORT AND EXPORT จำกัด ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่มีการนำเทคโนโลยีและสายพานการผลิตมาช่วยในการบริหารจัดการ สร้างมาตรฐานด้านคุณภาพ ความสะอาด น้ำหนัก ไปจนถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับของผลผลิต ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าทุเรียนที่ส่งจากต้นทางไปถึงผู้บริโภค
นายวิสาห์ เปิดเผยว่า ในส่วนของจังหวัดชุมพร มีการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน ในปี 2566 จำนวน 323,550 ตัน มูลค่าการส่งออก 46,746,234,375 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 10.16
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จากบริษัทผู้ส่งออก 8 บริษัท และตีกลับตู้จำนวน 29 ตู้ ประมาณกว่า 300 ตัน ที่ส่งออกไปจากจังหวัดชุมพร พร้อมกับมีหนังสือแจ้งเตือนจาก GACC ผ่านทางทูตเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง มาประเทศไทย และภายหลังยังตรวจพบและแจ้งเพิ่มอีก 5 ล้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทุเรียนไทย
จากการตรวจสอบของหน่วยงานเกี่ยวข้องพบว่า มีผู้ประกอบการบางแห่งซื้อผลผลิตราคาถูกจากชายแดนใต้มาผสมปิดตู้คอนเทรนเนอร์เพื่อส่งออก ทำให้ผู้เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและในจังหวัดชุมพร ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี เกษตรจังหวัดชุมพร พาณิชย์จังหวัดชุมพร ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้ประกอบการล้งทุเรียน ผู้แทนชาวสวนทุเรียน ได้หารือออกแบบแนวทางในการแก้ปัญหา และมาตรการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ในการขนส่งต้องให้ระบุที่มาจากสวนใด จากพื้นที่ใด จะไปปลายทางที่ใด เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนปลายทางให้แยกกองทุเรียนตรวจสอบคุณภาพก่อนแพกอีกครั้ง
พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยมีมาตรการจากต้นทาง หลังเก็บเกี่ยวควรพักทุเรียน 1-2 วัน การคัดแยกผลผลิต การตรวจการออกใบกำกับจากต้นทาง เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ และมาตรการปลายทางในโรงคัดบรรจุ ให้แยกกองตรวจสอบบ่มนาน 2-3 วัน และก่อนบรรจุต้องตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลผลิตและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก