xs
xsm
sm
md
lg

สะดุ้งกันหมด! ร้านขายขนมปัง-ชาไทยใน จ.สตูล ตื่นตกใจชื่อเมนูอาหารอ้างจดสิทธิบัตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตูล - ร้านขายขนมปัง และชาไทยใน จ.สตูล ตื่นตกใจชื่อเมนูอาหารอ้างจดสิทธิบัตร “ปังชา” เร่งกลับมาสำรวจร้านตัวเอง ทั้งเมนูอาหารและภาชนะที่ใช้ มั่นใจทางร้านไม่ได้ลอกเลียนแบบร้านดัง

จากกรณีดรามา “ปังชา” ที่เป็นกระแสในโซเชียล จากร้านอาหารแห่งหนึ่งได้จดสิทธิบัตร ไม่ให้ทำซ้ำ หรือลอกเลียนแบบ จนเกิดกระแสทักท้วงว่า น้ำแข็งไสราดชาไทยนั้นมีขายมานานแล้ว มีการจดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร อ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้ด้วยหรือไม่นั้น

หลายร้านในพื้นที่ จ.สตูล ที่มีเมนูคล้ายกัน แล้วแต่จะเรียกว่า “น้ำแข็งไส” หรือบิงซู การตกแต่งหน้าตาอาจจะแตกต่างกันออกไป ต่างพากันงงว่า สรุปแล้วเมนูเหล่านี้สามารถจดสิทธิบัตรได้ด้วยหรือ แล้วเมนูของพวกตนที่มีการคิดค้นเพิ่มสูตรที่แตกต่าง สามารถจดสิทธิบัตรได้หรือไม่ หรือว่าพวกตนต้องไปจดสิทธิบัตร แล้วถ้าเรามีเมนูที่คล้ายกัน แล้วคนอื่นไปจดสิทธิบัตรก่อน เราจะมีความผิดหรือไม่ เกิดคำถามหลากหลาย หลังมีตัวอย่างการถูกเรียกเก็บค่าสิทธิบัตรในร้านที่ตกเป็นข่าวใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และร้านที่ จ.เชียงราย ที่เจ้าของสิทธิบัตรเรียกเงินมากถึง 102 ล้านบาท


น.ส.หนึ่งฤทัย เสียงแก้ว เจ้าของร้านบาร์นม 55 ยอมรับว่า ตกใจกับข่าวที่เกิดขึ้น แล้วกลับมาดูภายในร้านเราเองมีแต่เมนูบิงซู ซึ่งมั่นใจว่าร้านเราไม่ได้ลอกเลียนแบบร้านปังชา ที่จดสิทธิบัตรมาแต่อย่างใด ภาชนะที่ใส่เป็นแก้วใส แต่ไม่คิดว่าจะมีการฟ้องร้องร้านเล็กๆ ในต่างจังหวัด เพราะตนเป็นหนึ่งในลูกค้าที่เคยไปกินที่ร้านปังชาไก่ทอง กรุงเทพฯ เพราะมูลค่าการจัดตกแต่งร้าน ภาชนะที่เขาเลือก รวมทั้งวัตถุดิบที่แปลก และแตกต่าง ไม่น่าจะมีใครไปลอกเลียนแบบ เพราะมีความยาก

ด้าน น.ส.ณิชากร จินดานุ หรือเตี๊ยบ เจ้าของร้านบัวลอยจงเจริญ เปิดเผยว่า เมื่อเห็นข่าวครั้งแรกก็ตกใจ รีบมาดูเมนูภายในร้านว่ามีเมนูไหนที่ไปลอกเลียนแบบเขามาหรือไม่ เพราะทางร้านมีมากกว่า 100 เมนู โดยทางร้านมีเมนูแนะนำคือ ปังเย็นจงเจริญ ปังเย็นบัวลอยเลือกน้ำได้ เช่น ชาไทย โกโก้ นมสด นมชมพู ปังเย็นนมสดภูเขาไฟ ซึ่งเปิดขาย 5 สาขา ชื่อเมนูจะคล้ายกันกับร้านทั่วไป เพราะลูกค้าจำและเรียกได้ง่าย และยิ่งมาเกิดคำถามว่า หากมีใครไปจด หรือว่าเราต้องจดสิทธิบัตรหรือไม่ เพราะเมนูหลักของเราส่วนใหญ่มีบัวลอยเป็นส่วนประกอบเกือบทุกเมนู หรือว่าใครเกิดไปจดสิทธิบัตร คำว่า “ไอติม” แล้วจะทำอย่างไร

“วันนี้ก็กลับมาดูว่า เราเผลอไปใช้ภาชนะที่เหมือน หรือใกล้เคียงเขาหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ทางร้านยอมรับว่าต้องคอยศึกษาหาข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเหมือนร้านที่ถูกคดี พร้อมเห็นว่าไม่คาดคิดว่าจะมีการฟ้องร้องร้านเล็กๆ ในต่างจังหวัด เพราะเมนูอาหารก็ทำกันมานาน มีส่วนผสม และชื่อก็จะคล้ายๆ กัน”






กำลังโหลดความคิดเห็น