xs
xsm
sm
md
lg

จีนตีกลับทุเรียนจากชุมพรกว่า 300 ตัน ไม่ได้คุณภาพ เร่งหามาตรการป้องกัน หวั่นกระทบความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - คุมเข้มล้งทุเรียน หลังถูกจีนตีกลับ 29 ตู้ น้ำหนักกว่า 300 ตัน เจอหนอนเจาะเมล็ด ตรวจสอบพบผู้ประกอบการบางแห่งซื้อผลผลิตราคาถูกจากชายแดนใต้มาผสมปิดตู้ส่งออก หวั่นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น


จากปัญหากรณีสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จากบริษัทผู้ส่งออก 8 บริษัท และตีกลับตู้จำนวน 29 ตู้ ประมาณกว่า 300 ตัน จากผู้ประกอบการ หรือ "ล้ง" ในพื้นที่ จ.ชุมพร พร้อมกับมีหนังสือแจ้งเตือนจาก GACC ผ่านทางทูตเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง มาประเทศไทยนั้น และภายหลังยังตรวจพบ และแจ้งเพิ่มอีก 5 ล้ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทุเรียนไทย

ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมาถึงระดับภูมิภาค และจังหวัด ก้นร้อนอยู่กันแทบไม่ติด เพราะจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี และขึ้นชื่อว่าเป็นมหานครแห่งผลไม้ภาคใต้ เป็นตลาดกลางรับซื้อส่งออกใหญ่สุดของภาคใต้ โดยเฉพาะทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหลักส่งออกไปขายประเทศจีน นำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้านบาท จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ในปี 2566 จังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 279,254 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 260,768 ไร่

ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ ตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ที่ส่งไปจากจังหวัดชุมพร และตีกลับตู้จำนวน 29 ตู้ กว่า 300 ตัน กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตามองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหานี้อย่างไร และทันต่อสถานการณ์หรือไม่ ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างประเทศเวียดนาม พยามส่งออกทุเรียนตีตลาดจีนแข่งกับประเทศไทย เพื่อหวังโค่นล้มแชมป์จากประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และอาจจะใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสแซงหน้าประเทศไทยไปก็เป็นได้


ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้ประชุมชี้แจงแนวทางในการควบคุมปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพื่อการส่งออกสำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร อ.สวี จ.ชุมพร โดยมีผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุในพื้นที่ จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และ ยะลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมประชุม จำนวน 100 ราย เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการควบคุมและการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน สำหรับการส่งออกไปประเทศจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าและรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย

สำหรับการป้องกันปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพในพื้นที่ จ.ชุมพร ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม 2566 นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพจังหวัดชุมพร จากหน่วยงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร สนง.เกษตรจังหวัดชุมพร สนง.เกษตรอำเภอหลังสวน และป้องกันจังหวัดชุมพร ลงพื้นที่ตรวจติดตามคุณภาพทุเรียนที่รับซื้อขายในพื้นที่อำเภอหลังสวน อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี อย่างต่อเนื่อง โดยการสุ่มตรวจคุณภาพเนื้อทุเรียน เปอร์เซ็นต์แป้ง รวมถึงร่องรอยหนอนเจาะ เพื่อป้องปรามการลักลอบซื้อขายทุเรียนด้อยคุณภาพ

จากการได้สุ่มตรวจคุณภาพทุเรียน พบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีการคัดทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกตามมาตรฐาน แต่จากการตรวจสอบโดยละเอียดพบมีแผงทุเรียนบางแห่งมีทุเรียนด้อยคุณภาพ ทุเรียนหนอนเจาะ และทุเรียนอ่อนอยู่บ้าง คือเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งไม่ถึง 32% ซึ่งได้เข้าดำเนินการตามมาตรการพ่นกากบาทสีแดงเป็นสัญลักษณ์ทุเรียนอ่อน เพื่อป้องกันการนำไปขายปะปนกับทุเรียนคุณภาพ


จากข้อมูลในห้วงที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพจังหวัดชุมพร ได้ออกตรวจโรงคัดบรรจุไปแล้ว 1,105 แห่ง สุ่มตรวจจำนวน 1,863 ตัวอย่าง ตรวจผ่าน 1,727 ตัวอย่าง และไม่ผ่าน 136 ตัวอย่าง ซึ่งได้คัดทุเรียนด้อยคุณภาพออกทำลายแล้วกว่า 2,690 ผล หรือคิดเป็น 8,825.5 กิโลกรัม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำทุเรียนดังกล่าวส่งออกหรือออกจำหน่ายในท้องตลาด

นอกจากนั้น ในห้วง 15 วันที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 15-29 สิงหาคม 2566 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร ศูนย์เครือข่ายสำนักวิจัยและการพัฒนา เขต 7 กรมวิชาการเกษตร ยังมีการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จากการร่วมกันบูรณาการตรวจโรงคัดบรรจุผลไม้สดทุเรียน ในพื้นที่อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอหลังสวน เพื่อป้องกันปัญหาการส่งออกทุเรียนด้อยคุณภาพ จำนวน 257 โรง ยังพบมีทุเรียนด้อยคุณภาพจำนวน 2,327 กิโลกรัม

สำหรับปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและทุเรียนหนอนเจาะเมล็ด จากการตรวจสอบของหน่วยงานเกี่ยวข้องพบว่ามาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกแบบธรรมชาติ ลดต้นทุน ไม่ใช้วิธีการหรือสารกำจัดแมลงแต่อย่างใด และผลผลิตมีราคาถูกเฉลี่ยตามเกรด กิโลกรัมละ 90-110 บาท ขณะที่ทุเรียนคุณภาพในพื้นที่จังหวัดชุมพร อยู่ที่กิโลกรัมละ 110-150 บาท และบางช่วงสูงถึงกิโลกรัมละ 160-170 บาท

จากราคาทุเรียนที่แตกต่างกันมาก ทำให้ผู้ประกอบการบางแห่งเสี่ยงที่จะรับซื้อผลผลิตทุเรียนจากชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจากจังหวัดยะลา มาผสมปะปนเพื่อปิดตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากมีกำไรมากกว่าเท่าตัว


ขณะที่ผู้ประกอบการหลายแห่งในจังหวัดชุมพร ต่างหวาดหวั่นจะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จึงได้ปิดประกาศผ่านสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไม่รับซื้อทุเรียนจากจังหวัดชายแดนใต้และจังหวัดยะลา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับล้งของตนเอง

ด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จากปัญหาดังกล่าวตนได้ประชุมหารือเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี เกษตรจังหวัดชุมพร พาณิชย์จังหวัดชุมพร ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้ประกอบการล้งทุเรียน สมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร ผู้แทนชาวสวนทุเรียน

โดยที่ประชุมได้หารือออกแบบแนวทางข้อเสนอในการแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ และขอให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพทุเรียนเบื้องต้น ในการขนส่งขอให้ระบุที่มาจากสวนใด พื้นที่ใด จะไปปลายทางที่ใด เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนปลายทางให้แยกกองทุเรียน ตรวจสอบคุณภาพก่อนแพกอีกครั้ง

ในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ประกอบด้วย มาตรการต้นทาง หลังเก็บเกี่ยว ควรพักทุเรียน 1-2 วัน การคัดแยกผลผลิต การตรวจการออกใบกำกับจากต้นทาง เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ และมาตรการปลายทาง ในโรงคัดบรรจุ ให้แยกกอง ตรวจสอบบ่มนาน 2-3 วัน และก่อนบรรจุต้องตรวจสอบอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น