คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
มีการตั้งคำถามว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยผลักดันให้ นายเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการโหวตจากรัฐสภาได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สำเร็จ เวลานี้เร่งทำโผคณะรัฐมนตรี แล้วรัฐบาลชุดใหม่จะมีผลให้สถานการณ์ความไม่สงบบนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด
เวลานี้สังคมอาจจะเชื่อมั่นฝีมือพรรคเพื่อไทยว่า น่าจะผลักดันนโยบายแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนอย่างจับต้องได้ เช่น แก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ขณะที่ลดราคาพลังงานลงได้ เป็นต้น เพราะเรื่องเหล่านี้จะช่วยลบภาพความตระบัดสัตย์ และมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าที่มีพรรคก้าวไกลเป็นคู่แข่งสำคัญ
แต่สำหรับสถานการณ์ไฟใต้ เชื่อได้ว่าคนไทยอาจจะไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะพรรคเพื่อไทยต้องประนีประนอมกับ “กองทัพ” และโดยเฉพาะกับบรรดา “นายพล” ที่ยังควบคุมอำนาจอยู่ในการเมือง
ต้องไม่ลืมว่ากองทัพคือสถาบันที่ควบคุมดูแลความมั่นคงของชาติ เป็นกลไกสำคัญที่สุดในการนำนโยบายดับไฟใต้ไปปฏิบัติ โดยผ่าน “กองทัพภาคที่ 4” ลงสู่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่มี “งบประมาณ” ผ่านมือมากที่สุด แต่ 19 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ที่ผ่านมายังคงมะงุมมะงาหราหาทางดับไฟใต้ไม่เจอ
ฉะนั้นจึงเชื่อได้ว่ารัฐบาลใหม่ใต้ปีกพรรคเพื่อไทยจะไม่มีนโยบายที่ “แข็งกร้าว” หรือเทียบได้กับพรรคก้าวไกลที่ “มีธง” ฟาดฟันกับการใช้อำนาจและงบประมาณของกองทัพ แต่จะมีนโยบายที่เอาแต่ “คล้อยตาม” กองทัพประกาศมาโดยตลอดว่า สำหรับนโยบายดับไฟใต้นั้น “เราเดินมาถูกทางแล้ว”
นั่นคือการชู “สันติวิธี” นำหน้า แล้วปล่อยให้ “ขบวนการค้าของเถื่อน” ตามแนวชายแดนได้ทำมาหากินกันต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิด “ศัตรูร่วม” ไปผสมโรง “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ส่วนจะมีการจ่าย “ส่วย” ให้ “ท่านนายพล” หรือ “ผบ.หน่วย” ในพื้นที่บางคนหรือไม่ ถือเป็นอีกปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
เนื่องเพราะปัญหาส่วยใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลาคือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เป็นเรื่องที่ต้อง “ปกปิด” ถือเป็นการ “สมยอม” กันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ไม่เหมือนส่วยบุหรี่หนีภาษีของ “เสี่ยหยอย” ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เจ้าหน้าที่ยึด “บัญชีส่วย” ได้แล้วนำมาเปิดเผยต่อสื่อ
สำหรับมาตรการดับไฟใต้ด้วยการ “ตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุข” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะมีการส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ได้พูดคุยกันต่อไป เพียงแต่อาจมีการปรับเปลี่ยนคำเรียกกลับมาใช้คำว่า “เจรจาสันติภาพ” ตามแบบฉบับของ “รัฐบาลระบอบทักษิณ” ก็เป็นได้
ต้องไม่ลืมว่า นายทักษิณ ชินวัตร คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดการเจรจากับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน และการตั้งโต๊ะเจรจาครั้งแรกก็มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะ และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ รมว.ยุติธรรมที่ในขณะนั้นนั่งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมอยู่ในคณะฝ่ายไทยด้วย
เมื่อพรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จึงเชื่อว่า พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร น่าจะได้กลับเข้ามามีบทบาทเจรจาสันติภาพกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีกครั้ง ที่สำคัญในสถานการใหม่นี้จะมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะ รมว.ยุติธรรมเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของโต๊ะเจรจาสันติภาพระลอกใหม่ด้วย
ด้านฝ่ายของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก และฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนคู่เจรจากับรัฐไทย เวลานี้มีการเตรียมการเพื่อรองรับการเจรจาระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างคึกคัก โดยหวังว่าจะมีการเดินหน้าเจรจาในรูปแบบและวิธีการเดิมๆ กันต่อไป
เชื่อหรือไม่ว่า ฝ่ายมาเลเซียในฐานะ “ผู้บงการ” ตัวจริงได้ปลุก “กลุ่มมาราปาตานี” ที่เคยเป็นคู่เจรจาหลักในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาใหม่ แต่ให้เปลี่ยนหัวหน้าคณะเสียใหม่ โดยไปเอา “แกนนำ” บางคนที่มีศักยภาพจริงใน “ขบวนการบีอาร์เอ็น” มาสวมแทน
ก่อนหน้านี้ฝ่ายมาเลเซียเคยปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะเจรจามาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าพรรคก้าวไกลจะได้จัดตั้งรัฐบาล จึงถอด “หิพนี มะเร๊ะ” กับ “วาเหะ หะยีอาแซ” ที่ป่วยเรื้อรังออก แล้วให้ “เปาะนิอาชิ” หรือ “นิเซะ นิฮะ” มาสวมแทน เพราะเห็นว่ามีความสนิทสนมกับคนของพรรคก้าวไกลที่น่าจะได้ร่วมคณะเจรจา
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ จึงเชื่อว่าการแก้ปัญหาไฟใต้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะจะไม่มีการยุบ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” กับ “ศอ.บต.” และจะไม่มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคงใดๆ หรือกระทั่งไม่มีการเปลี่ยน “แม่ทัพภาคที่ 4” ด้วย
อย่างเดียวที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนในชายแดนใต้คือ พรรคประชาชาติมี ส.ส.ในพื้นที่มากที่สุด เมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคได้นั่งเป็น “รมว.ยุติธรรม” น่าจะมีการลด “เงื่อนไขความเหลื่อมล้ำ” ที่มีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ได้
เพราะ “นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ” คือสิ่งที่พรรคประชาชาติใช้หาเสียงไว้กับชาวชายแดนใต้ ซึ่งหากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรมหรือจับต้องไม่ได้ นั่นก็จะส่งผลถึงการเลือกตั้งในสมัยหน้าอย่างแน่นอน
ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่านับจากนี้ไม่ว่าประเทศไทยจะมี “รัฐบาลพลเรือน” หรือ “รัฐบาลทหาร” ฉากทัศน์เดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่บนแผ่นดินไฟใต้ ซึ่งเคยถูกฉายมายาวนานกว่า 19 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ ภาพเหล่านั้นจะยังหวนกลับมาให้เห็นแบบซ้ำซาก นั่นคือ...
ภาพหนึ่ง คือ การลอบวางระเบิด คาร์บอมบ์ ไปป์บอมบ์ วางเพลิง ซุ่มโจมตี ยิงรายวัน ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเป้าหมายหลัก แต่ก็มีประชาชนบริสุทธิ์ร่วมตกเป็นเหยื่อไปด้วยบ่อยครั้ง ตามด้วยพิธีวางหรีดและจ่ายเงินเยียวยาจาก “กองทัพ” และ “ศอ.บต.” หรือหากสะเทือนขวัญก็จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสำคัญมาร่วมพิธีศพ
อีกภาพหนึ่ง ได้แก่ การปิดล้อม ตรวจค้น แล้วจบลงด้วย “วิสามัญฆาตกรรม” กองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีหมายจับติดตัว แล้วจบลงด้วยพิธีศพเยี่ยงบุคคลสำคัญ “ผู้พลีชีพ” ที่มีขบวนแห่คึกคัก มีการส่งเสียงสรรเสริญและตะโกนคำว่า “เมอร์เดกา ปาตานี” ไปตลอดทาง
และอีกภาพ ได้แก่ บาง “นักการเมือง” บาง “พรรคการเมือง” หรือบาง “กลุ่มการเมือง” ร่วมมือกับ “ภาคประชาสังคม” และโดยเฉพาะที่อยู่ใต้ปีกทางการเมืองของขบวนการแบ่งแยกดินแดน พวกเขาจะหาช่องทางขับเคลื่อนสนับสนุนได้อย่างไม่ยากเย็น
ขอสรุปแบบตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ปีกโอบของ “ระบอบทักษิณ” แนวรบด้านชายแดนใต้นอกจากจะไม่น่าเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้ว ยังกลับกัน คาดว่ายังจะมี “ความรุนแรง” เพื่อเป็นการต้อนรับด้วย ซึ่งเชื่อว่า “บีอาร์เอ็น” ได้กำหนดเกมไว้ล่วงหน้าแล้วนั่นเอง