พัทลุง - ชาวบ้านสงสัยกลุ่มนายทุนปรับสภาพดินปลูกยูคาลิปตัสเกือบ 1,000 ไร่ ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้พบพื้นที่ดังกล่าวมีการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
วันนี้ (27 ส.ค.) สภาพพื้นที่ป่าพรุทะเลน้อยระดับน้ำเริ่มลดจนบางจุดแห้งสนิท เนื่องจากปรากฏการณ์ธรรมชาติฝนทิ้งช่วง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง แต่ล่าสุดนอกเหนือจากปัญหาไฟไหม้ป่าพรุแล้ว วันนี้ยังมีกลุ่มนายทุนนำรถแบ็กโฮ จำนวน 6 คัน เร่งปรับพื้นที่ยกคันดินเพื่อปลูกต้นยูคาลิปตัส โดยขุดและปลูกไปแล้วกว่า 300 ไร่ และกำลังดำเนินการขุดอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทำให้ชาวบ้านที่ทำมาหากินในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยหวั่นรับผลกระทบ หากมีการนำต้นยูคาลิปตัสมาปลูกจำนวนมากและเป็นบริเวณกว้าง จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศของที่นี่ ไม่ว่าทั้งพืช ทั้งสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำจืดหลายชนิดอาจจะสูญพันธุ์เมื่อต้นยูคาลิปตัสเจริญเติบโต และน้ำในทะเลสาบลดลงไม่เป็นไปตามระบบนิเวศก่อนหน้า
ชึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแล้ว ล่าสุด เริ่มส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อย เนื่องจากพื้นที่ทุ่งหญ้าที่กลุ่มนายทุนดำเนินการขุดนั้นเป็นทุ่งหญ้าป่าพรุ ที่ชาวบ้านนำควายไปเลี้ยงปล่อยทุ่งในจุดดังกล่าวกว่า 1,000 ตัว โดยพื้นที่น้ำหลากควายจะอาศัยดำน้ำกินหญ้า หน้าแล้งน้ำลดควายได้เดินหากินตลอดทั้งวัน แต่เมื่อกลุ่มนายทุนเริ่มปรับพื้นที่อาชีพการเลี้ยงควายน้ำตรงจุดนี้เริ่มได้รับความเดือดร้อน
ด้าน นายศักดิ์ดา คงเอียง อายุ 59 ปี และนายบุญส่ง ไล่สาม เกษตรกรเจ้าของควายน้ำทะเลน้อย กล่าวว่า ปกติพื้นที่ดังกล่าวตรงรอยต่อ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กับ ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นพื้นที่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ชาวบ้านที่เลี้ยงควายขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปรับดินเพื่อสร้างคอกควายให้สูงช่วงน้ำหลากมันแสนยาก ขอกันมาเป็น 10 ปี ยังไม่ได้เลย แต่มาปีนี้หลังเจอสภาพแล้งมีกลุ่มนายทุนนำรถแบ็กโฮมาขุดปรับสภาพดินยกคันสูงเพื่อปลูกต้นยูคาลิปตัสส่งออก เจ้าหน้าที่กลับปล่อยให้ขุดเฉยโดยไม่มีการตรวจสอบแต่อย่างใด ชึ่งหากชาวบ้านนำแบ็กโฮมาขุดสร้างที่พักควายอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ไล่จับกุมทันที
นายศักดิ์ดา ยังกล่าวอีกว่า พื้นที่ที่มีการปรับดินปลูกต้นยูคาลิปตัสนั้นเป็นทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อยมาแล้วหลายช่วงอายุคน โดยตนนั้นเป็นรุ่นที่ 3 ต่อไปหากมีการรุกพื้นที่เลี้ยงควาย วิถีการเลี้ยงควายน้ำแม้จะยกให้เป็นมรดกโลกก็คงจะเหลือเพียงตำนาน
ขณะที่พรุ่งนี้ วันที่ 28 สิงหาคม 66 ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อย และชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลาน้ำจืดขายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จะเดินทางไปสอบถามด้วยวาจากับหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยว่า เจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นที่ชุ่มน้ำได้อย่างไร และมีการอ้างเอกสารสิทธิครอบครองได้อย่างไร ทั้งที่ต้นยูคาลิปตัสจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของพื้นที่ป่าพรุที่นี่