ตรัง - “สาทิตย์” ลั่น! “ชวน” ไม่โดดเดี่ยว ปลุกสมาชิกพรรค ปชป.ออกทวงถาม ปม 16 ส.ส.ดิ้นโหวตหนุน “เศรษฐา” หวังร่วมรัฐบาลหรือไม่ วาทกรรม “คนรุ่นใหม่” ไม่มีจริง เพราะสองฝ่ายผสม ส.ส.ทุกรุ่น ถามกลับอ้างชาติได้ไปต่อจริงหรือ
วันนี้ (25 ส.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ตรังหลายสมัย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดบ้านให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีความขัดแย้งภายในพรรค ปชป. ระหว่างกลุ่ม ส.ส.ที่โหวตสนับสนุน นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี กับนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค ปชป. ที่ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยในขณะนี้ว่า มันเป็นปรากฏการณ์ของความวิกฤตของคนในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก่อตั้งมา 77 ปี โดยเฉพาะความเป็นพรรคในเรื่องของสถาบันที่มีวินัย โดยเฉพาะในหมู่ ส.ส.ของพรรค ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติ มีข้อบังคับของพรรคชัดเจน และเรายึดถือแนวทางปฏิบัตินั้นตลอดมา จะได้เห็นว่าตลอด 77 ปี ไม่เคยมีเลยที่พรรคได้มีมติไปแล้ว แต่กลับมี ส.ส.โหวตสวนมติพรรคในสภา แต่ครั้งนี้เสียง ส.ส.กว่า 80% สวนมติพรรคที่ ส.ส.ในกลุ่มตัวเอง
โดย น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง ในฐานะโฆษกที่ประชุม ส.ส. ออกมาแถลงชัดเจน แต่กลับโหวตสวนมติพรรคไปสนับสนุน นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมาจากพรรคคู่แข่ง คือพรรคเพื่อไทยให้เป็นนายกฯ ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้ เชื่อว่าหัวหน้าพรรคจะดำเนินการตามข้อบังคับ ให้มีการตั้งกรรมการสอบเรื่องที่เกิดขึ้นโดยละเอียดเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะ ตั้งแต่สาเหตุที่โหวตสนับสนุน ที่มาที่ไป รวมทั้งกระแสข่าวว่ามีดีลลับ และการเดินทางไปพบกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของแกนนำกลุ่ม 16 ส.ส. ที่ฮ่องกง รวมทั้งในวันโหวต ทำไมต้องรวมกลุ่มออกไปนอกที่ประชุมสภา ไปคุยอะไร ตกลงอะไร รอดูสถานการณ์บางอย่างอย่างไรหรือไม่ แล้วกลับมาแจ้งชื่อโหวต ซึ่งสมาชิกพรรค ปชป.ทั่วประเทศรอฟังผลสอบ และมีความไม่สบายใจเป็นอย่างมาก
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า สุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ส.ค. กลุ่ม 16 ส.ส.เพิ่มจำนวนเป็น 20 ส.ส. และนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา ในฐานะแกนนำกลุ่มแถลงข่าว ซึ่งตนและสมาชิกพรรคอีกจำนวนมากฟังแล้วก็ไม่สบายใจ มีการกล่าวอ้างวาทกรรมว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำเพื่อประเทศได้ไปต่อ ขอถามกลับว่าในกลุ่มของนายเดชอิศม์ มีทั้ง ส.ส.ใหม่ ทั้งสมัยแรก และอดีต ส.ส.หลายสมัยที่เป็นคนรุ่นเก่า ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการไปร่วมรัฐบาลด้วยการโหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ที่นำโดย นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษา ปชป. และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ปรึกษาพรรค ซึ่งถือเป็นคนที่อยู่กับพรรค มีคุณูปการต่อพรรคมายาวนาน ไม่ได้มีแต่คนรุ่นเก่า เพราะยังมี ส.ส.รุ่นใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับการไปร่วมรัฐบาล และเห็นว่า ปชป.ควรเตรียมตัวทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างมีคุณภาพ ทบทวนตัวเอง ฟื้นฟูพรรค เพื่อเรียกความศรัทธาประชาชนกลับมา รวมทั้งสมาชิกพรรค ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ แม้เขาจะไม่ได้มีตำแหน่ง ส.ส. แต่ก็เป็นเจ้าของพรรค และไม่เห็นด้วย ดังนั้น การแบ่งแยกว่ารุ่นเก่ารุ่นใหม่จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง
“ตลอด 77 ปีที่ผ่านมา ปชป.เป็นพรรคของทุกคน ไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของมาก่อน ไม่เคยเป็นของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่มายุคนี้กลับมีการกางมุ้ง ตั้งกลุ่ม ถ้าเพื่อประโยชน์ของพรรค และส่วนรวมไม่เป็นไร แต่ทุกวันนี้ที่อ้างว่าต้องโหวตสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ประเทศได้ไปต่อ ฟังไม่ขึ้น ถ้าจะทำเพื่อประเทศได้ไปต่อ ทางการเมืองจะเป็นการโหวตกรณีปริ่มน้ำเพื่อเติมเสียงให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่กลุ่ม 16 ส.ส.นั้นไปโหวตตอนที่เขามีเสียงท่วมท้นแล้ว เพราะได้เสียงจาก ส.ว.มาสนับสนุนด้วยเป็นจำนวนมาก แล้วกลุ่ม 16 ส.ส.ยังไปเพิ่มให้อีก แบบนี้หมายความว่าอย่างไร มีเจตนาอย่างไร ตรงนี้ต้องมีการชี้แจงต่อทั้งสมาชิกพรรค และต่อสาธารณะ เพราะกระทบชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของพรรคมาก ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
นายสาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับวาทกรรมที่บอกว่า ไม่ขอรับมรดกความโกรธแค้นจากคนรุ่นเก่า ก็ไม่ใช่ เพราะทั้งสองฝ่ายมีคนทุกรุ่นอยู่ในนั้น คำถามจากสังคมตอนนี้คือเป็นการกระทำเพื่อประเทศได้ไปต่อ หรือมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนส่วนตนหรือไม่ ต้องชี้แจงออกมาให้ได้ สิ่งที่ตนและหลายๆ คนเสียใจ คือเราไม่เคยมีใครกางมุ้งนับจำนวนพวกว่าใครมี ส.ส.มากกว่ากัน หรือใครกันแน่จะขับใครออกจากพรรค เพราะเราอยู่กันแบบพี่น้อง เห็นต่างก็รับฟังกัน และเคารพมติข้อบังคับพรรค ที่สำคัญคือการยึดมั่นในอุดมการณ์ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่ส่งต่อกันมายาวนานถึง 77 ปี
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าการออกมาแสดงจุดยืนของนายชวน จะไม่โดดเดี่ยว เพราะเรื่องนี้กรณีที่เกิดขึ้นกระทบจิตใจของคน ปชป. สมาชิกพรรค และขอเรียกร้องให้สมาชิกพรรค และใครก็ตามได้ออกมาเรียกร้องทวงถามคำชี้แจงจากกลุ่ม ส.ส.เหล่านั้น และต้องชี้แจงให้ได้ ยอมรับว่าถือเป็นความขัดแย้งแตกแยกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพรรค และหวั่นว่าอาจเป็นก้าวแรกสู่ความแตกแยกเหมือนกรณี 10 มกราฯ ในอดีตที่สองฝ่ายซึ่งเห็นไม่ตรงกัน ต้องออกจากพรรคไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่สุดท้ายก็ไปไม่ได้ พังกันทั้ง 2 พรรค หลังจากนั้นเราต้องใช้เวลา และสรรพกำลังยาวนานมากกว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ อยากให้มองต้นทุนของ ปชป.ว่าสั่งสมมายาวนาน แม้เราจะเป็นฝ่ายค้าน ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น และมีความน่าเชื่อถือ ล้วนเป็นสิ่งที่นายชวน ได้ให้เหตุผลไว้ต่อที่ประชุม ส.ส.ก่อนการโหวต ว่า ปชป.ต่อสู้ตรวจสอบมาตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีการอภิปรายในสภา มีการยื่นตรวจสอบไปยังองค์กรอิสระเกิดเป็นคดีทุจริต ศาลพิพากษาจำคุก และมีการยึดทรัพย์นายทักษิณ แกนนำไทยรักไทย ตลอดจนพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย มาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่ ปชป.สั่งสมไว้ ดังนั้น ปรากฏการณ์ในวันนี้จึงกระทบต่อพรรคมาก ว่าเราถึงขนาดจะไปเป็นอะไหล่ให้พรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่เสียง ส.ส.ของเขาเพียงพอแล้ว ได้เสียงเกินอยู่แล้ว มันสะท้อนเจตนาอะไร
นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ ปชป.ต้องทำในวันนี้ คือเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านให้ได้ใจประชาชน เร่งด่วนที่สุดคือหน้าที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราต้องตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมในตำแหน่งสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การอ้างว่าแม้จะโหวตให้นายเศรษฐา แต่จะกลับมาเป็นฝ่ายค้านก็ได้นั้น จะเป็นไปได้อย่างไร แล้วจะไปตรวจสอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองโหวตให้เขาเป็นนายกฯ ทุกเหตุผลที่กลุ่ม 16 ส.ส.พยายามอธิบายต่อสังคมในเวลานี้มันย้อนแย้งไปหมด