xs
xsm
sm
md
lg

ดักคอกลางสภา “ฮั้วมังคุด” ทุบราคาชาวสวน จี้ทุกภาคส่วนราชการวางแผนจัดการล่วงหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครศรีธรรมราช - “ส.ส.พิมพ์ภัทรา” ดักคอกลางสภา “ฮั้วมังคุด” ทุบราคาชาวสวน จี้ทุกภาคส่วนราชการวางแผนจัดการล่วงหน้า หลังราคามังคุดเมืองคอนวูบวาบหนัก เปิดฤดูกาล กก.ละ 80-90 บาท จนเหลือต่ำสุด 8 บาท ก่อนกลับมายืนที่ 27-30 บาท โครงสร้างราคาถูกควบคุมเบ็ดเสร็จ

วันนี้ (24 ส.ค.) “ราคามังคุด” ยังคงเป็นปัญหากับชาวสวนอย่างต่อเนื่อง หลายฝ่ายกำลังสังเกตการณ์ราคาที่ผันผวนอย่างหนัก ทั้งการดิ่งลงอย่างผิดปกติ ขณะที่ราคาปลายทางในประเทศจีนยังมีราคาที่สูง ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คืออยู่ที่ 40-50 หยวน หรือประมาณ 190-240 บาท ส่วนราคาขายปลีกสูงกว่านั้น ทำให้เกิดข้อสังเกตว่ามีขบวนการทุบราคามังคุดหรือไม่ แต่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคามังคุดผันผวนอย่างหนัก พื้นที่ผลิตมังคุดย่าน อ.ลานสกา พรหมคีรี นบพิตำ สิชล และ อ.ขนอม บางพื้นที่ต่ำกว่า 10 บาท หรือจุดรับซื้อหยุดซื้อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ 25-30 บาท ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมานี้


ขณะที่ในวันเดียวกัน ที่สภาผู้แทนราษฎร น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ใช้เวทีสภาติดตามการแก้ไขปัญหาชาวสวนมังคุดของชาวนครศรีธรรมราช ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และทวงถามถึงการแก้ไขปัญหาเชิงระบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะราคาที่ต่ำมาก ปัญหาคือการกำหนดราคาไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกรอย่างแท้จริง คนรับซื้อคือกลุ่มล้งที่มีไม่มากเป็นคนกำหนดราคา เมื่อถึงเวลาการเก็บเกี่ยวต้องจำหน่าย แต่เมื่อราคาเปิดมาแค่ไหนก็จำเป็นต้องขาย แม้ราคาตกต่ำเป็นปัญหาซ้ำซาก

“ควรถึงเวลาที่ทุกกระทรวง ทั้งเกษตร พาณิชย์ ดิจิทัลต้องแก้ ต้องทำแผนแม่บทอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ต้องชัดเจนว่าแผนจะทำอย่างไรเมื่อถึงฤดูกาล สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เร่งแก้ไขความล่าช้าของการออกจีเอพี สิ่งที่กังวลตอนนี้คือไม่อยากให้เกษตรกรกลายเป็นเครื่องมือของการจับมือกัน ระหว่างข้าราชการที่คิดไม่ดีต่อเกษตรกร” น.ส.พิมพ์ภัทรา ระบุ


ส่วนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวในสายผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ให้ข้อมูลถึงขั้นตอนการทุบราคามังคุดว่า เป็นการจับมือใครดมได้ยากมาก แต่กลไกการทุบราคามังคุดเกิดขึ้นจากผู้รับซื้อส่งออกขนาดใหญ่สามารถจับมือกันได้ และกำหนดราคามังคุดเอง โดยเอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม มีการให้ผลประโยชน์เพื่อให้นิ่งเฉย หรือล่าช้าในการแก้ไข ใช้เวลาเพียง 3-4 วัน กดราคารับซื้อให้ต่ำลงมากกว่า 20 บาท เหลือเพียง 8-10 บาท โดยอ้างผลผลิตไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีจีเอพี หรือมังคุดเต็มส่งออกไม่ทัน เป็นต้น

“เขาจะมีการเลือกช่วงเวลา คือช่วงมังคุดออกสู่ตลาดพีกที่สุด คือราวที่ 40-60 เปอร์เซ็นต์ของฤดูกาล เป็นช่วงที่มังคุดสวยที่สุด และเป็นช่วงออกสู่ตลาดมากที่สุด เป็นช่วงที่สามารถกวาดกำไรได้มากที่สุดของผู้รับซื้อ หลังจากนั้นเพียง 3-4 วัน ราคาจะดีดกลับมาที่ 25-30 บาทอีกครั้ง คือช่วงระยะนี้ และคาดว่าจะเริ่มสูงขึ้นอีกในช่วงปลายฤดู ข้อสังเกตที่สำคัญคือจากอากาศที่ผันผวน มังคุดไม่ได้ออกเต็มที่ทุกสวน มีผลผลิตราว 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น ผลผลิตไม่ได้ล้นตามที่บางคนอ้าง”


ด้านนายเจน วังดาน เกษตรกรในพื้นที่ ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า ราคามังคุดที่ผ่านมาทุกปีถือว่าไม่ปกติ ไม่ได้เป็นไปตามราคาการส่งออกไปปลายทาง ราคาแตกต่างกันเป็น 100 บาท เข้าใจว่าผู้ส่งออกต้องมีทุนในการจัดการการขนส่ง เช่น ปัจจุบันต้นทางกิโลกรัมละ 27 บาท ราคานี้ต้องหักต้นทุนแรงงานเก็บเกี่ยวราว 10 บาท เหลือแค่ 17 บาท ยังไม่คิดค่าผลิต เมื่อไปถึงล้งอาจผ่านมือผู้รับซื้อรายย่อย ลูกล้งอีกอย่างน้อย 2-3 ทอด ส่วนต่างน่าจะกิโลกรัมละ 2-5 บาท เป็นอย่างน้อยแล้ว ถึงล้งจริงราว 35-38 บาท ค่าจัดการคัดแยกบรรจุ ขนส่งคงไม่ถึงกิโลกรัมละ 10-20 บาท จะอยู่ที่ไม่เกิน 50-60 บาทต่อกิโลกรัม

แต่เมื่อเดินทางไปถึงประเทศจีน ราคาส่งที่ 40-50 หยวน หรือ 190-240 บาทตามข้อมูล ผู้ที่ได้กำไรสูงสุดคือผู้ซื้อส่งออก ไม่มีโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม และหน่วยงานภาครัฐแทบไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ถึงเวลารับซื้อช่วงปลายฤดูกาลไปแบบขอไปที อีกไม่กี่วันปัญหาจบแล้ว คือหมดฤดูกาล ผลผลิตหมดนั่นเอง ปัญหาก็จบ เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ปัญหานี้จะกลับมาอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น