xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมสืบสานประเพณีโบราณ “ขอขนม แห่แขก กลองมลายู” ของชุมชนมุสลิม จ.ตรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ชุมชนท่าข้าม หยงสตาร์ และทุ่งยาว จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น และอาหารพื้นถิ่นโบราณ โดยเฉพาะการแสดงขบวนแห่ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

ที่แหลมหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ได้มีการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่า “ท่าข้าม-หยงสตาร์-ทุ่งยาว” ประจำปี 2566 โดยนอกจากจะมีร้านค้าในท้องถิ่น และร้านค้าทั่วไปรวมกว่า 130 ร้านค้าแล้ว ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และการสาธิตอาหารพื้นถิ่นโบราณ พร้อมให้ชิมฟรี เช่น เมนูแกงตูมี้ ตันหยงสตาร์ โดยการนำเครื่องแกง และหอม กระเทียม ขิง หั่นฝอย ผัดน้ำมันพอหอม แล้วนำเครื่องแกงที่ผัดแล้วใส่ลงไปในหม้อแกงละลายให้เข้ากัน พร้อมใส่ส้มแขก ใส่ปลากระมง มะเขือยาว ใบหมุยทอดลงไป แล้วเคี่ยวไฟจนสุก

นอกจากนั้น ยังมีการแสดงขบวนแห่ตามประเพณีโบราณ "ขบวนขอขนม แห่แขก (เข้าสุหนัต) กลองมลายู" ของชาวไทยมุสลิมชุมชนหยงสตาร์-ท่าข้าม โดยในขบวนจะประกอบด้วยเด็กชายที่จะเข้าพิธีสุหนัต ซึ่งแต่งกายในชุดตามแบบชาวมลายูที่มีสีสันสวยงาม ร่วมแห่ร้องรำตามทำนองเพลง หรือบทกลอนไปยังบ้านเรือนเพื่อขอขนม และเงิน เมื่อได้รับแล้วผู้ร่วมขบวนจะกล่าวบทกลอนอวยพร เช่น ขอให้ร่ำรวย ขอให้มีโชคลาภ ขอให้สุขภาพแข็งแรงให้ผู้ใหญ่เหล่านั้น

ขบวนแห่ดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ชุด ชุดแรกคือ ประเพณีแห่ขอขนม เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาของชาวมุสลิมชุมชนบ้านตันหยงสตาร์ ที่มีขึ้นในค่ำคืนก่อนวันฮารีรายา (วันตรุษอีดิ้ลฟิตตรี และวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา) เนื่องจากในอดีตเมื่อใกล้ถึงวันตรุษ พี่น้องมุสลิมแทบทุกๆ บ้าน จะทำขนมพื้นบ้านหลากหลายชนิด ครั้นพอตกตอนพลบค่ำ เหล่าผู้ชายในหมู่บ้านจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มขบวนเพื่อเดินตระเวนขอขนมไปตามบ้านต่างๆ ซึ่งในระหว่างเคลื่อนขบวนจะมีการร้องรำทำเพลงกันเป็นที่ครื้นเครงสนุกสนาน

ชุดที่สองคือ ประเพณีแห่แขก (เข้าสุหนัต) โดยเฉพาะชาวมุสลิมที่บ้านตันหยงสตาร์ จะมีเอกลักษณ์เด่นคือ ก่อนตัดแขก 1 วัน (ตัดแขกคือ พิธีขลิบปลายอวัยวะเพศชายของเด็กในศาสนาอิสลาม) จะมีการทำบุญเลี้ยงแขก โดยในช่วงตอนเย็นจะมีการระแขก หรือแห่แขก โดยนำเด็กที่จะตัดแขกมาแต่งหน้าตา สวมเสื้อผ้าตามแบบมลายู พร้อมประดับประดาอย่างสวยงาม แล้วทำการแห่เป็นขบวน ซึ่งอาจให้นั่งคร่อมคอผู้ใหญ่ นั่งบนรถยนต์ หรืออาจจะสร้างเป็นเกี้ยวคานหามที่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วเคลื่อนขบวนแห่ไปตามหมู่บ้าน

ส่วนชุดที่สามคือ ประเพณีแห่กลองมลายู เป็นวงมโหรีของชุมชนตันหยงสตาร์ที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิม ประกอบด้วย กลองมลายู ไวโอลิน หรือปี่ชวา โหม่ง กรับ ฉิ่ง ใช้สำหรับบรรเลงเพลงเดินนำหน้าขบวนในงานประเพณี หรืองานรื่นเริงต่างๆ เช่น ขบวนแห่ขันหมาก ขบวนแห่แขก ขบวนขอขนม และขบวนรองแง็งตันหยงสตาร์ ถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ทั้งความไพเราะของจังหวะดนตรี และท่าทางของการร่ายรำที่ยังคงสืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนเมืองเก่าท่าข้าม หยงสตาร์ ทุ่งยาว เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยพุทธ อยู่ร่วมกันมาช้านาน ดังนั้น เรื่องราวของวัฒนธรรมจึงมีการผสมผสานกัน ส่วนอาหารการกินมีความหลากหลาย ทั้งอาหารคาวหวาน และอาหารมงคล ตามคติความเชื่อตามแบบชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยพุทธ


กำลังโหลดความคิดเห็น