xs
xsm
sm
md
lg

TCEB ยกระดับประเพณีถือศีลกินผัก จัดงาน Phuket Food Faith 2023 ดึงเชฟจากร้านดังรังสรรค์เมนูอาหารเจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทีเส็บยกระดับประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัด จัด Phuket Food Faith 2023 ภายใต้แนวคิด “มรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดสู่คนรุ่นใหม่ ในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน” เชิญเชฟชื่อดังร่วมรังสรรค์เมนูอาหารเจ


สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (TCEB ) ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดงาน Phuket Food Faith 2023 ภายใต้แนวคิด “มรดกทางวัฒนธรรม ต่อยอดสู่คนรุ่นใหม่ ในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน” เพื่อสืบทอดประเพณีถือศีลกินผัก หรือเจี๊ยะฉ่าย ซึ่งถือเป็นงานหลักที่โด่งดังของจังหวัดภูเก็ตที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวของพื้นที่หลายมิติ ณ บ้านพักรับรองชาร์เตอร์ด แบงก์ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา


โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ พร้อมด้วย นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต น.ส.อรไพลิน ตระกูลปริพนธ์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และพันธมิตร เพื่อนำร่องงานประเพณีถือศีลกินผัก ผ่านประสบการณ์ Vegetarian Fine Dining โดยเชิญเชฟระดับมิชลิน รังสรรค์เมนูอาหาร และเครื่องดื่มแนว โมเดิร์นเข้าร่วม


นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการ ทีเส็บ (ภาคใต้) กล่าวว่า “การจัดงาน Phuket Food Faith 2023 ประจำปีนี้จัดขึ้น ณ บ้านพักรับรองชาร์เตอร์ด แบงก์ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสถานที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองของจังหวัด เพื่อสะท้อนความเป็นตัวตนของภูเก็ตในด้านวัฒนธรรมในหลักการ “3 อา” อันประกอบด้วย “อาคาร อาหาร อาภรณ์” กอปรกับยุทธศาสตร์หลักของจังหวัดภูเก็ตในการส่งเสริมอุตสาหกรรมพื้นฐานในจังหวัดด้านอาหาร หรือ Gastronomy ผ่านแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมไมซ์


การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นกิจกรรมนำร่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินอาหารเจสไตล์ Vegetarian Fine Dining ที่มุ่งหวังจะเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจในเรื่องของอาหารเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตในช่วงของประเพณีถือศีลกินผัก ปี 2566 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566 ทีเส็บ ได้สนับสนุนงานประเพณีถือศีลกินผักมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อยกระดับการจัดงานในพื้นที่เมืองไมซ์ซิตี้ ซึ่งถือเป็นพันธกิจหนึ่งของทีเส็บ ที่ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจในเมือง หรือ Festival Economy


การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นการปักหมุดเพื่อเพิ่มคุณค่า (value added) ของงาน และการสร้างการรับรู้เพื่อกระตุ้นให้คนเข้าร่วมงาน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและเรื่องราวเพื่อตอบโจทย์นักเดินทางรุ่นใหม่ให้ตัดสินใจเข้าร่วมงานมากขึ้น สำหรับรูปแบบการจัดงาน Phuket Food Faith ได้เชิญเชฟที่มีชื่อเสียงในจังหวัดภูเก็ต มีรางวัลการันตีมาปรุงอาหาร Fine Dining สไตล์ Chef Table รังสรรค์เมนูอาหารเจที่ทันสมัย แต่คงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการ และดีต่อสุขภาพ


ประกอบด้วย เมนูยำมะพร้าวคั่วภูเก็ต โดยเชฟอานนท์ ภู่เจริญ จากร้านอาหารฌาร์ม ไดนิ่ง แกลอรี่ ร้านอาหารเพอรานากัน และอาหารพื้นเมืองที่ได้รับสืบทอดสูตรจากครอบครัว นำเมนู “ยำมะพร้าวคั่วภูเก็ต” เมนูอาหารโบราณพื้นถิ่น

ยำมะพร้าวคั่วภูเก็ต
ตามมาด้วยเมนูที่ 2 เมนู Hae Jong (เฮจ้อง) โดยเชฟชัชวาล วราหะจีระกูล (แบงค์) Chef de Cuisine ที่ร้านสมุทร จังหวัดภูเก็ต

Hae Jong (เฮจ้อง)
เมนูที่ 3 “Pizza biga 72 hours fermented, Fermented” โดยเชฟกวาง สินธุ์ประดิษฐ์ จากร้าน Marni และ Five Olives

3  “Pizza biga 72 hours fermented, Fermented”
เมนูที่ 4 “Porchini Ravioli, Porchini Mushroom, Coconut Cream,” โดยเชฟกร สินธุ์ประดิษฐ์ จากร้าน Marni และ Five Olives


ปิดท้ายเมนูของหวาน โดยเชฟทอรี่ วงศ์วัฒนกิจ เจ้าของร้าน Torry Icecream Maker นำเสนอเมนูของหวาน  4 คอร์ส คอร์ส 1 ยันต์ - ลี่ ซี่งเป็นเยลลี่ที่ทำจากสับปะรดวิสาหกิจชุมภูเก็ต คอร์ส 2 โกปี๊ช้าม ไอศกรีมกาแฟผสมชา คอร์ส 3 ไอศกรีม 3 สี รสโกสุ่ย ขนมขี้มัน ขนมโกยตาล้าม คอร์ส 4 บี๊โกหมอย


ส่วนเมนูเครื่องดื่ม เสิร์ฟโดย Mixologist วิน ที่รังสรรค์เมนูเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่มีวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบหลักจาก "ดีบุกเฮาส์"


สำหรับการถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต หรือ “เจี๊ยะฉ่าย” นั้น เป็นลัทธิเต๋า ซึ่งนับถือบูชาเซียนเทวดา เทพเจ้า วีรบุรุษ เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน คำว่า “เจี๊ยะฉ่าย” (กินผัก) เป็นภาษาท้องถิ่น วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ (เก้าโง้ยโฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า) ตามปฏิทินจีนของทุกปี สำหรับปีนี้จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 15-23 ต.ค.2566 อันเกิดจากความเชื่อสู่ประเพณีท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จนพัฒนากลายเป็นประเพณีประจำปีของภูเก็ต ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาร่วมในประเพณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก


อีกทั้งความคิดที่พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมด้านอาหารนี้สามารถสร้างผลประโยชน์เชิงสังคม แล้วยังเกิดผลทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นั่นคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเกิดส่งเสริมเกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น โดยคำนึงถึงการใช้และการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งการเน้นให้เกิดความสร้างสรรค์ (Creative) เพื่อเติมเต็มมิติของอาหารภูเก็ต ให้มีความสมบูรณ์ และเกิดทางเลือกใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook page : The Southern MICE












กำลังโหลดความคิดเห็น