xs
xsm
sm
md
lg

เร่งฟื้นฟู “พลายไข่นุ้ย” ช้างป่าตัวตึงแห่งกรุงชิง หลังถูกคุมตัวหยุดป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครศรีธรรมราช - เร่งฟื้นฟูสุขภาพ “พลายไข่นุ้ย” ช้างป่าตัวตึงแห่งกรุงชิง หลังถูกคุมตัวหยุดป่วน ก่อนเล็งนำปล่อยคืนป่า พื้นที่คุมช้างอุปนิสัยแปลกแยกจากช้างป่าทั่วไป

นายจรัล ด้วงแป้น ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 ได้เข้าให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อุทยาน หน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย อุทยานแห่งชาติเขานัน อุทยานแห่งชาติน้ำตกกรุงชิง ซึ่งสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดูแล “พลายไข่นุ้ย” หรือที่ถูกระบุอย่างเป็นทางการอีกชื่อคือ “พลายเจ้างา” ขึ้นบัญชีช้างพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องติดตามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลังจากช้างเชือกนี้ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุม และจับตัวได้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อยุติพฤติกรรมสร้างความเสียหายให้พืชผลอาสิน และทรัพย์สินของชาวบ้านใน อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา จนชาวบ้าน 104 คน ได้เข้าชื่อร้องต่อศาลปกครอง จนนำไปสู่การกำหนดมาตรการบังคับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับย้ายช้างป่าตัวนี้

ส่วนการดูแล “พลายไข่นุ้ย” ช้างป่าตัวนี้ เจ้าหน้าที่ได้คุมตัว และจำกัดพื้นที่อยู่ในบริเวณชายป่า หลังที่ทำการหน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย โดยกันพื้นที่เฉพาะเป็นเขตหวงห้าม และนำตัวพลายไข่นุ้ยไปดูแลชั่วคราว มีสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่เข้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มีชุดเจ้าหน้าที่นอนเฝ้า ชุดเจ้าหน้าที่หาอาหารมาให้ และเปิดให้ชาวบ้านนำอาหารช้างเข้ามาบริจาค โดยเน้นพืชอาหารที่มีในป่า เช่น กล้วยป่า เพื่อปรับนิสัยการกินของพลายไข่นุ้ย ไม่เลือกเอาผลไม้ เช่น ทุเรียน หรือกล้วยทั่วไป

นายวิโรจน์ สุประดิษฐ์ หรือควาญอ๊อด ควาญท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายจากกรมอุทยานฯ ให้เข้าช่วยปฏิบัติการควบคุมช้างพลายไข่นุ้ย ระบุว่า ส่วนสุขภาพนั้นเบื้องต้นพบว่ามีบาดแผลบริเวณงวงไม่ทราบสาเหตุ บาดแผลตุ่มตามผิวหนังหลายจุด จำเป็นต้องกักตัวเพื่อจัดการปัญหาด้านสุขภาพให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะส่งคืนป่า ซึ่งทางกรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างจัดเตรียมพื้นที่ปลายทางที่ไม่ใช่พื้นที่เดิม เพื่อยุติปัญหาช้างป่าที่มีพฤติกรรมแปลกกว่าช้างป่าทั่วไปตัวนี้

นอกจากนั้น มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ทีมวิจัยช้างป่าของกรมอุทยานฯ ได้เข้าเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากพลายไข่นุ้ย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางสายเลือดกลุ่มช้างป่าพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดการกลุ่มช้างป่าเกเร และสามารถเลือกพื้นที่ป่า สร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมช้างให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น