xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ตรัง ทุ่ม 8.8 ล้านจัดงานครีเอทีฟกระตุ้นท่องเที่ยวกลางเมือง พ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - “เถตรัง” งานนิทรรศการสร้างสรรค์ โดยกลุ่มครีเอทีฟรุ่นใหม่ ชูอัตลักษณ์ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม เมืองเก่าทับเที่ยง สู่ความคิดสร้างสรรค์ CEA ประทับใจความร่วมมือเด็กตรัง วัสดุพื้นถิ่น ตำนานเมืองเก่า พร้อมเป็นที่ปรึกษาจัดงานไอเดียใหม่ๆ ผู้ว่าฯ หนุน ทุ่ม 8.8 ล้าน จัดงานครีเอทีฟ กระตุ้นท่องเที่ยว พ.ย.นี้ ริมคลองห้วยยางกลางเมือง สอดรับมติ คกก.อนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ประกาศเขต “ทับเที่ยงเมืองก่า” 1.9 ตร.กม.

วานนี้ (13 ส.ค.) ที่อาคารเก่าโรงพยาบาลตรังชาตะ ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ ทีม “หัว Born” และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส.ร่วมกันจัดงาน เถตรัง (the-Trang) คำว่า “เถ” ในภาษาใต้ หมายถึง การหาเล่น หาทำ หาที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ถึงแม้ใครหลายคนอาจจะมองว่าไร้สาระ แต่ในการค้นพบอะไรใหม่ๆ โดยในงาน “เถตรัง-the-Trang” จัดให้นิทรรศการออกแบบหลากหลายประสบการณ์ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในอาคารเก่าโรงพยาบาลตรังชาตะ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “หัว born” โดยเหล่า “นักเถ” หรือ “นักสร้างสรรค์” ชาวตรังมากถึง 11 กลุ่มที่มาทำงานร่วมกัน

งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคมนี้ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักสร้างสรรค์ปักษ์ใต้ กับ Pakk Taii Neighborship : เกลอปักษ์ใต้ ที่ย่านเมืองเก่าสงขลา ให้ “ผลิบาน” ด้วยงานออกแบบ ศิลปะ การแสดงสด และกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กว่า 30 จุด อีกหนึ่งพันธกิจของ Pakk Taii Design Week คือการทำให้วงการสร้างสรรค์นั้นทั้ง boom และ bloom ไปทั่วปักษ์ใต้


ธีมงานผ่านกิจกรรม 6 กิจกรรม ได้แก่ Performance & Show-มหรสพ ศิลปะการแสดง ดนตรี และการแสดงสดหลากหลายรูปแบบ Exhibition & Installation-นิทรรศการ การจัดแสดงผลงาน ศิลปะการจัดวาง รวมไปถึงศิลปะการจัดแสดงแสงไฟ งานสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี และสื่อผสมหลากหลายรูปแบบ Talk & Workshop - การบรรยายและเวิร์กชอปเพื่อการเติมเต็มความรู้และแนวคิดใหม่จากนักสร้างสรรค์ Activities & Event - กิจกรรมสร้างประสบการณ์ในหลากรูปแบบตั้งแต่ การฉายภาพยนตร์ แฟชั่นโชว์ การเปิดบ้าน หรือ Open House และท่องเที่ยว Market & Promotion - ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดสร้างสรรค์ การทดลองตลาด ที่นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจและการสร้างรายได้ Experiment - งานทดลองบนพื้นที่จริงที่นำเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริง

ทั้งนี้ โปรแกรม Pakk Taii Neighborship: เกลอปักษ์ใต้ กำลังจะทำให้นักสร้างสรรค์ปักษ์ใต้หลากหลายกลุ่มได้เชื่อมโยงกันเป็นปึกแผ่น ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ที่กระจายตัวออกจากพื้นที่จัดงานหลักอย่างเมืองเก่าสงขลา ไปยังตัวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดตรัง และจังหวัดปัตตานี เป็นเทศกาลสร้างสรรค์ประจำปีของภาคใต้ นำเสนอและต่อยอดศักยภาพของคนปักษ์ใต้ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาต้นทุนวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นอย่างสมดุล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในภูมิภาค และ Pakk Taii Design Week เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมระบบนิเวศสร้างสรรค์ สนับสนุนศักยภาพคนท้องถิ่นและเชื่อมโยงคนสร้างสรรค์จากหลากหลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ คือ การชูอัตลักษณ์และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของภูมิภาคใต้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสทางอาชีพ รายได้ทางธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

เปิดพื้นที่ให้เพื่อนพี่น้องนักออกแบบนักสร้างสรรค์ชาวใต้ทั้ง 14 จังหวัด จากหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้แสดงศักยภาพ ตลอดจนกลุ่มผู้ขับเคลื่อนเมือง ภาคการผลิต ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนคนในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกัน ชวนกันกลับบ้านเพื่อมาร่วมกันค้นหา ตีโจทย์ และเพิ่มคุณค่าให้ทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายของภาคใต้ในบริบทสมัยใหม่ ผ่านจุดเด่นด้านอาหาร ภูมิปัญญา อาคารบ้านเรือน และมหรสพ ผลักดันให้เกิด ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ส่งเสริมการพัฒนา ‘เมืองน่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’


น.ส.มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ หรือกุ๊กไก่ (แบรนด์สานสาด) กล่าวว่า “เถตรัง” เป็นงานเทศกาลออกแบบครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ที่มาพัฒนาเศรษฐกิจตรังให้ขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ ในงานจะแบ่งเป็นโซนแสดงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การแสดงผลงานของนักครีเอทีฟในจังหวัดตรัง เวิร์กชอป นิทรรศการ และตลาดจำหน่ายสินค้า ในงานจะนำเสนอของที่เป็นวัสดุท้องถิ่นของจังหวัดตรัง เช่น ก้านจาก เตยปาหนัน ไม้เทพทาโร และยังมีสินค้าจากแบรนด์สานสาด แบรนด์แดนดินสตูโอ ผู้สนใจมาร่วมชมงานได้ในวันที่ 12-20 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. โดยในงานจะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับชิ้นงานสร้างสรรค์ต่างๆ

ด้านนายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า CEA มีหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งปี 2566 นี้ จะเน้นพัฒนาย่านเมือง จ.ตรัง ถือเป็นจังหวัดแรกๆ ที่ CEA ได้เข้ามาทำงานพัฒนาย่านเมืองเก่าด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ระหว่างบ้าน ที่ทำงาน และพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้คนเมืองและคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พัฒนาเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ให้เมือง และงานวันนี้ทำให้ CEA เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือถึงขุมทรัพย์และศักยภาพของคนตรังมารวมกันในที่เดียวกัน

อีกทั้งตรังยังมีวัสดุธรรมชาติในพื้นที่ที่นำมาต่อยอดงานสร้างสรรค์ได้มากมาย ทั้งไม้ยางพารา จาก เตยปาหนัน ผ้าทอมือ และวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ที่สำคัญคือตรังมีกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์การออกแบบ ทำให้ช่วงปลายปีนี้ CEA จะลงมาร่วมงานจัดงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ จ.ตรัง ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ต่อไป งานครั้งนี้จึงถือเป็นการชิมลางล่วงหน้า เป็นเหมือนปฐมบท ซึ่งได้ภาพที่น่าประทับใจมาก


นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง กล่าวว่า งานครั้งนี้ทำให้ฝันของตนเป็นจริงแล้ว เพราะที่ผ่านมา CEA เชิญ จ.ตรัง ซึ่งตนได้ไปดูงาน Bangkok Design Week ติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว ตนจึงฝันว่าตรังอยากมีกิจกรรมแบบนี้ และวันนี้ก็ได้เกิดขึ้น ทำอย่างไรให้ตรังมีไอเดียแนวคิดในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกิดเป็นงานที่ จ.ตรัง ทั้งนี้เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จ.ตรังได้เริ่มต้นแล้ว โดยจังหวัดตรัง เชื่อมโยงกับเทศบาลนครตรัง ที่เราจะเน้นต่อยอดจากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีเกาะกระดานที่สวยที่สุดในโลก มีอาหาร อากาศที่ดี มีวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องเมืองเก่าที่ผสมผสานสร้างงานสร้างสรรค์ และมีคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาสร้างสรรค์งานตรงนี้

“ดังนั้น ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จังหวัดได้สนับสนุนงบประมาณ 8.8 ล้านบาท ร่วมกับ CEA ในการจัดงานเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์บริเวณคลองห้วยยาง ต.ทับเที่ยง เขตเทศบาลนครตรัง โดยผ่านความร่วมมือในการดำเนินงานจากทางเทศบาลนครตรัง และทำอย่างไรจะให้มีการจัดงานแนวสร้างสรรค์ได้ตลอดทั้งปี”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมการจัดงานในเดือน พ.ย.นี้ จังหวัดตรังได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการกว่า 8.8 ล้านบาท ตามโครงการยกระดับและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวคุณภาพสูงฝั่งอันดามัน (Premium Tourism Andaman) กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าอันดามัน

อนึ่ง เมืองเก่าตรัง ได้รับการประกาศขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าตรัง จากมติที่ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2564 มีเนื้อที่ประมาณ 1.91 ตารางกิโลเมตร (1 192.95 ไร่) และขอบเขตพื้นที่ต่อเนื่อง ประมาณ 4.05 ตารางกิโลเมตร (2 528.92 ไร่) โดยไม่มีการแบ่งเขตพื้นที่ (ZoningZoning)

เนื่องจากพื้นที่ภายในเมืองเก่าตรังมีองค์ประกอบที่สำคัญของเมืองส่วนใหญ่กระจุกตัวหนาแน่นอยู่บริเวณใจกลางเมืองย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมเก่าแก่ของเมือง หรือเกาะเมืองทับเที่ยงเป็นหลัก องค์ประกอบเมืองที่สำคัญ เช่น หอนาฬิกา สถานีรถไฟ วิหารคริสตจักรตรัง เป็นต้น เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างคุณค่าของเมืองเก่าอันดามัน โดยการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วม จึงมีความสำคัญยิ่ง

จึงจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าอันดามันขึ้น คาดว่าจะดำเนินการจัดงานได้ในเดือน พ.ย.นี้ สถานที่บริเวณคลองห้วยยาง กลางเมืองทับเที่ยง ภายในเขตเทศบาลนครตรัง




กำลังโหลดความคิดเห็น