xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) “Yayee” ชุดผ้าปาเต๊ะแบรนด์ดัง made in Phuket ต่อยอดและนำวัฒนธรรมภูเก็ตผ่านผืนผ้าสู่สากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผ้าปาเต๊ะ” วัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีชาวภูเก็ตมาตั้งแต่สมัยโบราณ เราจะเห็นคนรุ่นเก่าๆ นิยมสวมใส่เสื้อผ้าลูกไม้ต่อดอกกับผ้าถุงที่เป็นผ้าปาเต๊ะ หรือสวมใส่แบบชุดบ๋าบา หยายา ชุดเคบาย่า แต่ปัจจุบันนี้ผ้าปาเต๊ะไม่ได้เป็นเฉพาะผ้าถุงสำหรับคนรุ่นเก่าอีกต่อไป ผ้าปาเต๊ะได้ถูกนำมาต่อยอดเป็นเสื้อ กระโปรง ชุดเดรส และอีกมากมายที่ดูทันสมัย ทั้งลายผ้า สี และดีไซน์ให้เข้ากับยุคสมัย ให้คนรุ่นใหม่หันมาสวมใส่กันมากขึ้น




ชุดและเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าปาเต๊ะเป็นที่โด่งดัง และรู้จักกันแพร่หลายขณะนี้ คือ ชุดผ้าปาเต๊ะ “ยาหยี” (Yayee) แบรนด์เสื้อผ้าที่เรียกได้ว่าเป็น made in phuket ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สืบทอดโดยหนุ่มภูเก็ต วัย 28 ปี ลูกหลานชาวภูเก็ต “พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ” หรือ “คุณภูมิ” ผู้สืบทอดแบรนด์ยาหยี ต่อจากคุณแม่ วาสิตา น้อยประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ยาหยี ที่นำเอาความรู้และวัฒนธรรมของคนภูเก็ตมาประยุกต์ใช้และต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ และมีความตั้งใจที่จะนำผ้าภูเก็ตและผ้าปาเต๊ะให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ หรือ “ภูมิ” ผู้สืบทอดแบรนด์ ยาหยี
“ความตั้งใจแรกที่เข้ามารับช่วง “ยาหยี” (Yayee) ต่อจากคุณแม่เราต้องการเข้ามาสานต่อความฝันของคุณแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะคุณแม่รักยาหยีมาก ตั้งใจจะทำให้ไปได้ไกลที่สุด เมื่อเข้ามารับช่วงต่อจากคุณแม่อย่างเต็มตัว ทำให้รู้สึกว่าวัฒนธรรมนี้เป็นสิ่งที่มีเสน่ห์และน่าหลงใหลอย่างหนึ่ง ถ้าไม่นับรวมประวัติความเป็นมาที่ยาวนานของผ้าปาเต๊ะแล้ว มนต์เสน่ห์ของการสวมใส่เสื้อผ้าปาเต๊ะของคนภูเก็ตบ้านเรามีเสน่ห์ในตัวเอง และการได้เห็นการเติบโต การเปลี่ยนผ่าน และการต่อยอดได้เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่สำหรับผม “พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ” หรือ “ภูมิ” ผู้สืบทอดเสื้อผ้าแบรนด์ “ยาหยี” (YAYEE) ทายาทรุ่นที่สองของยาหยี ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่นำผ้าปาเต๊ะ ที่เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีชาวภูเก็ต มาตัดเย็บเป็นชุดต่างๆ และต่อยอดจนกลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังจากความมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง กล่าวกับ “MGR Online ภาคใต้”


กว่าจะมาเป็นยาหยีในวันนี้ “ภูมิ” ย้อนเวลากลับไปเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเสื้อผ้าแบรนด์ ยาหยี ว่า ยาหยี หรือ “ผู้เป็นที่รัก” เริ่มจากคุณแม่ของภูมิ “คุณวาสิตา น้อยประดิษฐ์” ผู้ซึ่งหลงใหลและหลงในความมีเสน่ห์ของผ้าปาเต๊ะ ได้นำผ้าปาเต๊ะมาตัดเย็บเป็นชุดต่างๆ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว การนำผ้าปาเต๊ะมาตัดเย็บเป็นชุดนั้นเริ่มจากที่คุณแม่ซึ่งในขณะนั้นเป็นสาวสังคม ต้องออกงานสังคมอยู่บ่อยๆ มีตำแหน่งทางสังคม เป็นนายกสมาคมโรตารี ทำให้คุณแม่ได้มีโอกาสเดินทางไปออกงานสังคมในต่างจังหวัดในนามตัวแทนของคนภูเก็ตอยู่บ่อยๆ ซึ่งการแต่งกายออกงานสังคมอย่างเป็นทางการของสตรีภูเก็ตในขณะนั้น จะนิยมสวมใส่ชุดวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูเก็ต เช่น ชุดเคบาย่า (Kabaya) ชุดบาบ๋า ย่าหยา คอตั้งแขนจีบ หรือเสื้อลูกไม้ต่อดอกใส่กับผ้าถุงผ้าปาเต๊ะ


แต่เมื่อคุณแม่ได้เดินทางไปงานสังคมในต่างจังหวัดบ่อยๆ ทำให้เห็นว่าหลายจังหวัด หลายพื้นที่มีการนำลายผ้าของท้องถิ่นมาประยุกต์ตัดเย็บเป็นชุดที่โมเดิร์น ซึ่งในภูเก็ตขณะนั้นยังมีน้อยมาก คนภูเก็ตส่วนใหญ่ยังนิยมใส่ชุดย่าหยา หรือชุดลูกไม้ต่อดอก คุณแม่จึงมีแนวคิดนำผ้าปาเต๊ะ หรือผ้าวาดลวดลายต่างๆ ที่หาได้ทั่วไปมาตัดเย็บเป็นสูท เสื้อคลุม ชุดเดรส และค่อยพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งช่วงแรกๆ ที่คุณแม่นำผ้าปาเต๊ะมาตัดเป็นชุดนั้นไม่ได้ตั้งใจตัดเย็บเพื่อขาย แต่ตั้งใจที่จะตัดใส่ให้คนเห็นว่า ภูเก็ตมีลายผ้าปาเต๊ะที่สวยงาม และคุณแม่เองเป็นผู้หญิงพลัสไซด์ จึงตั้งใจที่จะทำให้ชุดของยาหยีเป็นชุดที่ผู้หญิงไซด์ใหญ่ หรือผู้หญิงที่รูปร่างไม่สมส่วนใส่ออกมาแล้วสวยและสง่า จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น จนกลายมาเป็น “ยาหยี” ในวันนี้


ภูมิ เล่าต่อว่า หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้เข้ามาช่วยคุณแม่ดูแลยาหยีในทันที แต่ตัดสินใจเดินเข้าสู่วงการโฆษณา ด้วยการไปทำงานกับบริษัทโฆษณาในกรุงเทพฯ เหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไป ที่ต้องการหาประสบการณ์ เพราะช่วงนั้น ยาหยี ยังมีคุณแม่ดูแลอยู่ และเสื้อผ้าของยาหยีในยุคของคุณแม่จะออกมาในสไตล์ที่กลุ่มลูกค้าคุณแม่ต้องการเป็นหลัก ซึ่งเป็นผู้หญิงในวัย 50-60 ปี ที่ใช้ใส่ไปออกงานสังคม สวมใส่ไปทำงาน

“ช่วงนั้นผมได้เริ่มเข้ามาช่วยคุณแม่ดูแลยาหยีบ้างแต่ไม่เต็มตัวเพราะยังทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เข้ามาดูแลในส่วนของการทำประชาสัมพันธ์ผ่านทางออนไลน์ ดูแลด้านการตลาด และดูแลสาขาที่กรุงเทพฯ”


เพราะเห็นว่าผ้าปาเต๊ะที่คุณแม่ทำนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่ได้มีเฉพาะมูลค่าในตัวของชุดผ้าปาเต๊ะเท่านั้น แต่มีคุณค่าทางจิตใจ และเป็นการนำพาวัฒนธรรมมาต่อยอด ซึ่งตัวผมเองจบสถาปัตย์ มีความชื่นชอบในศิลปะและวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และกลัวว่าสักวันหนึ่งผ้าปาเต๊ะอาจจะมีให้เห็นอยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้จากถนนสายวัฒนธรรมของภูเก็ต หรือถนนถลาง สมัยที่ผมเด็กๆ จะมีร้านขายผ้าปาเต๊ะเต็มไปหมด แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปค่อยๆ หายไปทีละร้านสองร้าน เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากจะมาขายผ้าปาเต๊ะ ทำให้ตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่ร้าน ซึ่งสักวันหนึ่งอาจจะหายไปทั้งหมดก็ได้ และมองว่าทุนต้นวัฒนธรรมที่เรามีอยู่นี้สามารถที่จะนำมาต่อยอดได้ จึงอยากจะช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของผ้าปาเต๊ะ


จนเมื่อคุณแม่เสียชีวิต ไม่มีคนดูแลยาหยี “ภูมิ” ตัดสินใจหันหลังให้งานในวงการโฆษณา กลับมาภูเก็ต ด้วยความตั้งใจที่จะกลับมาสานต่อความฝันของคุณแม่ ด้วยการเข้ามาดูแลยาหยีอย่างเต็มตัว และได้ต่อยอดผ้าปาเต๊ะ พร้อมทั้งวางเป้าหมายที่จะพายาหยีให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ภูมิ” เล่าต่อว่า หลังจากที่เขามาดูแลยาหยีเต็มตัวเมื่อ 5 ปี ก่อนโจทย์แรกที่ตั้งไว้ คือ “จะทำอย่างไรให้คนหันมาใส่ชุดจากผ้าปาเต๊ะให้กว้างขึ้น” ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในช่วงนั้น เพราะเป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องของยุคสมัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สมัยก่อนคนภูเก็ตจะแต่งตัวด้วยผ้าลูกไม้ต่อดอก หรือชุดเคบาย่า แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติสื่อ มีทีวี มีการเข้าถึงข่าวสารภายนอกมากขึ้น เรื่องของการแต่งกายเข้ามาในภูเก็ตมากขึ้น ทำให้คนภูเก็ตในสมัยนั้นเริ่มแต่งกายที่ไม่ใช่ชุดพื้นเมืองมากขึ้น การแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเริ่มที่จะห่างหายไป ซึ่งเราจะเห็นว่ามีแต่ “อาม่า อาอี่” ที่ใส่กัน คนรุ่นใหม่มองว่าการใส่ชุดแบบนั้นเป็นเรื่องโบราณคร่ำครึ ดูล้าสมัย



เมื่อ “ภูมิ” เข้ามาสานต่อ ยาหยีได้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบชุดของยาหยีให้ดูทันสมัยและตรงกับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่มากขึ้น เขาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทั้งในส่วนของลายผ้า สี จากเดิมที่ผ้าปาเต๊ะเน้นสีสันที่ฉูดฉาด สีที่ตัดกัน เรียกว่ามองเห็นมาแต่ไกล มาเป็นสีสันที่อ่อนลง เป็นสีพาสเทล ส่วนสไตล์ของชุดและเสื้อผ้าที่ออกมาเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการและสไตล์ของคนรุ่นใหม่

“ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาดูยาหยี เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จากความเคยชินที่ผ้าปาเต๊ะซึ่งใช้เป็นผ้าถุงที่อยู่ในส่วนล่างของร่างกาย เปลี่ยนมาเป็นเสื้อที่อยู่ในช่วงบน เป็นเรื่องยากมากในการที่จะสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจให้คนรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะโจทย์ของยาหยี คือ ให้ชุดของยาหยี เป็นชุดธรรมดาที่ไม่หรูหรามากจนเกินไป แต่ให้รู้สึกว่าเป็นชุดธรรมดาที่สามารถใส่ได้ทุกวัน ใส่ไปทำงาน ใส่ไปออกทุกงานสังคม ใส่ไปงานไหนผู้ใส่ก็ไม่รู้สึกเคอะเขิน สร้างความมั่นใจกับผู้สวมใส่ ซึ่งต้องใช้เวลา ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ได้ในทันที ทำให้คนรุ่นใหม่ในภูเก็ตหันมาใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าปาเต๊ะและลวดลายผ้ามาปาเต๊ะมากขึ้นในปัจจุบันนี้”

จุดเด่นของยาหยีนั้น “ภูมิ” บอกว่า คือ การล็อกลาย และวางลายผ้าที่ไม่เหมือนใคร จุดเด่นนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยที่คุณแม่ทำเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งลายผ้าปาเต๊ะนั้นมีทั้งเชิงผ้า ขอบผ้า และหน้าผ้า ที่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่ถูกซ่อนลงบนลายผ้า หากคนที่ไม่เข้าใจในเชิงวัฒนธรรม อาจจะตัดเอาบางส่วนของผ้าที่ชื่นชอบมาตัดเย็บ ไม่นำหน้าผ้า เชิงผ้า และขอบผ้ามาตัดเย็บด้วย แต่สำหรับคนรุ่นเก่าแล้ว หน้าผ้า ขอบผ้า และเชิงผ้า คือ ตัวจบของผ้า ที่มีความหมายและเป็นความเชื่อทางด้านจิตใจ คุณแม่จึงได้นำจุดเด่นนี้มาวางลาย วางดอก ต่อดอก ให้มีความสมมาตร ซึ่งการวางลาย ล็อกลายแต่ละชุดนั้นจะไม่เหมือนกัน ผ้าชิ้นนี้อาจจะเหมาะสำหรับการตัดชุดนี้ แต่อาจจะไม่เหมาะกับการตัดชุดในอีกสไตล์หนึ่ง จุดนี้จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้คนมองรู้ว่า ชุดที่ใส่อยู่นี้เป็นชุดของยาหยี


ถึงวันนี้ ยาหยีไม่ได้เล่าเฉพาะเรื่องราวของผ้าปาเต๊ะ ที่มีการนำเข้าและเป็นวัฒนธรรมร่วมของ 4 ประเทศ 3 สัญชาติเท่านั้น แต่ยาหยีได้นำผ้าในลวดลายของการเป็นภูเก็ตและนำผ้าภูเก็ตออกสู่ข้างนอกอย่างแท้จริง โดยตั้งโจทย์ไว้ว่า จะเล่าเรื่องราวความเป็นภูเก็ตผ่านทางลวดลายของผ้า เพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่าภูเก็ตเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะแอบแฝงไว้ในลวดลายของดอกไม้สถาปัตยกรรม ถ้วย ชาม ต่างๆ ที่อยู่บนลวดลายของผ้า ซึ่งอยากจะนำพาเรื่องราวและวัฒนธรรมสู่สากล

“ยาหยีในวันนี้เราทำและผลิตในภูเก็ตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคิดลายผ้า การออกแบบและลงลายบนผ้า จนถึงขั้นตอนการตัดเย็บเป็นชุด และส่งออกขาย ซึ่งทุกขั้นตอนทำให้ภูเก็ตเรียกได้ว่าเป็น “made in phuket” ร้อยเปอร์เซ็นต์” ภูมิ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นยาหยี และบอกอีกว่า



ถึงวันนี้ ยาหยีได้ทำลายผ้าที่เป็นลายของตัวเองไปแล้ว 6-7 ลาย ซึ่งแต่ละลายจะสอดแทรกการวาดที่เป็นลายมือของเราเองและเริ่มที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ที่สอดแทรกกลิ่นอายความเป็นภูเก็ตผสมอยู่ด้วย เช่น มีการสอดแทรกลายเสาปูนปั้นของอาคารสถาปัตยกรรมชิโนโคโรเนียล แต่งเติมสีสันด้วยการซ่อนคำว่า “Yayee” เล็กๆ น้อยๆ ลงบนผืนผ้า และชุดยาหยีจะเป็นชุดสาวหวานและเรียบร้อยนิดๆ ซ่อนอยู่ทุกชุด

รวมทั้งได้ออกเสื้อผ้าในหลายคอลเลกชัน แม้ว่าคอลเลกชันที่ออกมานั้นจะไม่ได้ออกมาเหมือนแฟชั่นในต่างประเทศ ที่มีคอลเลกชันในช่วงต่างๆ เช่น สปริง ซัมเมอร์ แต่ของยาหยีนั้นจะออกคอลเลกชันตามอีเวนต์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ปีละ3-4 อีเวนต์ เช่น คอลเลกชันสำหรับการประกวดมิสแกรนด์ การประกวดนางสาวไทย ชุดที่ออกมาจะเป็นคอลเลกชันที่เหมาะกับธีมของเวทีการประกวดนั้นๆ รวมถึงคอลเลกชันครบรอบปี ซึ่งคอลเลกชันล่าสุดที่ออกมานั้นเป็น “ดอกไม้มงคล 7 ชนิดในวัฒนธรรมเพอรานากัน” ในโอกาสครบรอบ 7 ปี ของยาหยี เป็นการร้อยเรียงความเป็นมงคลผ่านดอกไม้ 7 ชนิด เช่น ดอกโบตั๋น ดอกเฟื่องฟ้า เป็นต้น ซึ่งคอลเลกชันนี้ได้มีการเปิดตัวและจัดแฟชั่นโชว์การกุศล “ 7 ปีแห่งรัก 7 ปีแห่งการแบ่งปัน” เพื่อระดมทุนหารายได้ ซื้อชุดนักเรียนมอบแก่นักเรียนที่ขาดแคลน พร้อมทั้งสร้างอาชีพ ทักษะการเรียนการสอน และเพิ่มช่องทางหารายได้ให้ผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ที่โรงแรม Sound Gallery House ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้


“ภูมิ” บอกอีกว่า หลังจากที่ยาหยีได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัยขึ้น ทำให้การตอบรับจากลูกค้าดีขึ้น ตลาดกว้างขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีนี้ ตลาดโตขึ้นมาก ทั้งจากตัวของยาหยีเอง และจากที่หน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมให้ใส่ผ้าไทยและผ้าท้องถิ่น เดิมทีกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของยาหยี จะเป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ อายุราว 40-60 ปี แต่ปัจจุบันนี้มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุประมาณ 30-35 ปี เพิ่มขึ้น และกลุ่มนักธุรกิจผู้หญิงที่ต้องการชุดใส่ไปออกงานสังคม ใส่ไปทำงาน ชุดไปรับรางวัล เพราะเมื่อใส่ชุดยาหยีแล้ว ทำให้รู้สึกมีพลัง มีความโดดเด่น และเป็นที่สะดุดตา ด้วยสีสัน ลายผ้า และดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร

“แต่การที่จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาเลือกใส่ชุดลายผ้าปาเต๊ะนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่ว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องใช้เวลา และต้องทำให้เห็นถึงความนิยมในการใส่ชุดของยาหยี ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ชุดที่นิยมอยู่ในขณะนี้มีหลากหลาย เช่น เสื้อคลุมผู้ชาย จัมป์สูท ชุดเดรส ชุดที่ใส่ออกงานสังคมต่างๆ เป็นต้น”



ปัจจุบันนี้ ยาหยีถือว่าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในภูเก็ต ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงอย่าง “ภูมิ” ไม่ได้หยุดอยู่แค่ความนิยมในภูเก็ตเท่านั้น เขาเตรียมที่จะนำแบรนด์ยาหยีไปโลดแล่นในวงการแฟชั่นต่างประเทศ ซึ่ง “ภูมิ” บอกว่า ปัจจุบันยาหยีถือว่าเป็นที่รู้จักในภูเก็ตพอสมควรแล้ว แต่เราอยากจะขยายการรู้จักออกไปให้กว้างขึ้น โดยมีเป้าหมายว่า ในปีนี้และปีหน้าจะขยายตลาดออกไปในต่างประเทศ

“จริงๆ แล้ว ยาหยีมีฐานตลาดในต่างประเทศอยู่บ้างแล้ว จากที่ลูกค้าสั่งซื้อเสื้อผ้าของ ยาหยี ไปขายในหลายประเทศ แต่ยังเป็นฐานตลาดที่เล็กอยู่ เราอยากจะขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้น” ภูมิ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาเราได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดเดินแบบเสื้อผ้าของยาหยี ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียมาแล้ว และกำลังจะจัดในรอบที่ 2 นอกจากนี้ ยาหยียังได้ร่วมกับดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น และจะจับมือกับศิลปินต่างชาติให้มากขึ้น


เพื่อนำเรื่องราวของผ้าปาเต๊ะและผ้าภูเก็ต ไปให้คนต่างชาติได้รู้จักมากขึ้น และทำให้ผ้าปาเต๊ะเป็นอีกหนึ่ง Soft power ของภูเก็ตและประเทศไทย ที่เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูเก็ตแล้ว ก่อนกลับประเทศจะต้องเลือกซื้อสินค้าที่ทำจากผ้าปาเต๊ะติดไม้ติดมือกลับอย่างน้อยสักชิ้นสองชิ้น โดยเริ่มจากสินค้าชิ้นเล็กๆ เช่น กระเป๋าผ้า ถุงผ้าหูรูด ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ พวงกุญแจ สมุดโน้ต ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ยาหยีได้ผลิตและวางจำหน่ายอยู่แล้วตามจุดวางจำหน่ายสินค้าของเรา ทั้งในภูเก็ต ภาคใต้ และกรุงเทพฯ ที่ตอนนี้มีทั้งหมด 12 จุดทั่วประเทศ ซึ่งที่กรุงเทพฯ นั้น เรามีสาขาใหญ่อยู่ที่ดิ โอลด์ สยาม เมื่อหลายปีแล้ว ไม่นับรวมที่วางขายตามตึกโรงแรมต่างๆ ที่เป็นของที่ระลึก

“การทำตลาดต่างประเทศนั้นต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะกับประเทศนั้นๆ เช่น ในยุโรป ยาหยี คงจะไม่ทำเสื้อหนาว แต่เราจะทำเสื้อผ้าสำหรับช่วงซัมเมอร์และช่วงหน้าร้อน เพราะลายผ้าของยาหยีเป็นลายดอกไม้เหมาะกับช่วงหน้าร้อนอยู่แล้ว ส่วนการเปิดชอปหรือร้านจำหน่ายในต่างประเทศนั้นมีการทาบทามเข้ามาบ้างแล้ว แต่เรารอให้พร้อมกว่านี้ในการที่จะไปลงทุนเปิดชอปในต่างประเทศ


“ภูมิ” บอกในตอนท้ายว่า ยาหยี ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการตลาดเท่านั้น แต่เราต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านสังคมในภูเก็ต โดยเฉพาะในกลุ่มสตรี ซึ่งทางยาหยีได้ร่วมกับกลุ่มสตรีในพื้นที่อำเภอกะทู้ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กลุ่มสตรี โดยให้สตรีในกะทู้เย็บผ้าที่ทางเราส่งให้ และได้ร่วมกับเรือนจำจังหวัดภูเก็ตเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้นักโทษหญิงในเรือนจำภูเก็ต โดยนำจักรเย็บผ้าและครูช่าง เข้าไปสอนการตัดเย็บ เพื่อให้ผู้หญิงในเรือนจำผลิตสินค้าจากเศษผ้าของยาหยี เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และทางเรายังทำตลาดได้อีกด้วย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ผู้หญิงในเรือนจำ รวมไปถึงกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่เราจะสนับสนุนได้

ชุดผ้าปาเต๊ะที่เกิดจากความหลงใหลในเสน่ห์ของผ้าปาเต๊ะ จนกลายเป็นแบรนด์ชื่อดังภูเก็ต ด้วยความตั้งใจของลูกหลานชาวภูเก็ต อย่าง “พงศ์พิวิชญ์ ทั่วไตรภพ” ที่อยากเห็นวัฒนธรรมผ้าภูเก็ตและผ้าปาเต๊ะเป็นที่รู้จักในระดับสากล




กำลังโหลดความคิดเห็น