กระบี่ - ยก “คลองทะลุ” จ.กระบี่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืน ในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย แห่งแรกของไทย พบนกอพยพถึง 27 ชนิด
"คลองทะลุ" ต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นพื้นที่นกอพยพที่สำคัญของ จ.กระบี่ และประเทศไทย ถูกจัดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (EAAFP) แห่งแรกของประเทศไทย พบนกอพยพทั้งหมด 27 ชนิด มี 25 ชนิดที่เป็นนกอพยพชนิดที่มีความสำคัญระดับโลก
ที่ผ่านมา ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้าง บจก.เทสโก้ บริษัทที่ปรึกษา ศึกษาโครงการ กลไกลทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ ผ่านเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาโครงการ สำหรับนกที่หายากและใกล้ศูนย์พันธุ์บริเวณ "คลองทะลุ" ต.คลองประสงค์ เมืองกระบี่ มีถึง 6 ชนิด ได้แก่ นกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann's Greenshank) นกหัวโตทรายเล็ก (Lesser Sand Plover) นกหัวโตทรายใหญ่ (Greater Sand Plover) นกหัวโตขาดำ (Kentish Plover) นกซ่อมทะเลอกแดง (Asian Dowitcher) นกนอตใหญ่ (Great Knot)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมา ทาง สผ.ได้มีการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ ณ โรงเรียนบ้านคลองประสงค์ โดยมี นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพและมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่ของนกอพยพ โดยมี น.ส.จิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่โดยรอบพื้นที่นกอพยพ ปากแม่น้ำกระบี่ เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน
น.ส.จิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวสรุปผลการศึกษาโครงการจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ : การพัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ ว่า การดำเนินงานของโครงการได้เริ่มดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 โดยคัดเลือกพื้นที่ปากแม่น้ำกระบี่ เป็นพื้นที่ทำงาน โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสถานภาพทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในด้านกายภาพ ชีวภาพ สังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ปากแม่น้ำกระบี่ การรวบรวมข้อมูลเครื่องมือ กลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการจูงใจตลอดจน กฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การประเมินบริการจากระบบนิเวศ และการประเมินภาพรวมทิศทางการดำเนินงานในพื้นที่
โดยอาศัยกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการจนมาสู่การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำกลไกทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพ คือ พื้นที่บ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพบนกอพยพมากอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ ในขณะที่ชุมชนบ้านเกาะกลาง ยังคงเสน่ห์ของวิถีชีวิตชุมชนที่เรียบง่ายและเป็นอัตลักษณ์ มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ประมงพื้นบ้าน ผ้าปาเต๊ะ หัตถกรรมจากกะลามะพร้าว เป็นต้น ซึ่งนำมาสู่ข้อเสนอ กลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัย ในรูปแบบของนวัตกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่บูรณาการมาตรการบริหารจัดการกลไกการตลาด และการสร้างแรงจูงใจหรือสนับสนุนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานความต้องการของชุมชน
นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาจังหวัดกระบี่นั้น เนื่องจากจังหวัดมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม และมีความสำคัญระดับโลก ทั้งชายหาด ภูเขา และทะเลที่สวยงาม ส่งผลให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งการดำน้ำดูปะการัง เดินป่า นั่งเรือเที่ยวชมป่าชายเลน การดูนก เป็นต้น
ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้นับได้ว่ามีความสำคัญระดับนานาชาติ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ มีความสำคัญที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ และเป็นพื้นที่สำคัญของนกอพยพที่จะบินมาอาศัยหากิน สืบพันธุ์บริเวณนี้ในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เนื่องจากปากแม่น้ำกระบี่ มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารที่สำคัญ ส่งผลให้นกที่อพยพมาใช้บริเวณนี้เป็นแหล่งหากิน และพักอาศัยตลอดช่วงฤดูกาลอพยพ ซึ่งการที่มีนกอพยพเข้ามาพื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นตัวชี้วัดที่เด่นชัดอย่างหนึ่งในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่
ปัจจุบัน การขยายตัวของพื้นที่ชุมชน และกิจการด้านการท่องเที่ยวที่เริ่มจะฟื้นตัวอีกครั้ง อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่สำคัญแห่งนี้ ดังนั้น เพื่อที่จะอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวนี้ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญนั้น ต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ การส่งเสริมการประกอบกิจกรรมที่สอดคล้องทั้งวิถีชีวิตของชุมชนชาวกระบี่เอง และบริบทของพื้นที่ รวมถึงแสวงหาแนวทางเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาของจังหวัดด้วยเช่นกัน
"ผมขอฝาก อบต. คลองประสงค์ นำผลการศึกษาของโครงการไปต่อยอดเพื่อให้เกิดแผนงาน หรือผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนด้านการอนุรักษ์ในอนาคตต้องมีการดำเนินงานด้านการสื่อสาร การสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักแก่สาธารณชนให้เข้าใจถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และต้องไม่ลืมว่าจะให้ประชาชนอยู่ได้ มีรายได้เลี้ยงปากท้องเช่นกัน" รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าว