xs
xsm
sm
md
lg

5 องค์กรจับมือเก็บตัวอ่อนวัวชนภาคใต้เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมมิให้สูญหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - 5 องค์กรจับมือร่วมกันเก็บตัวอ่อนโคพื้นเมืองสายพันธุ์ภาคใต้ หรือวัวชน เก็บไว้ในธนาคารพันธุกรรม (Gene bank) หลังจากที่วัวพื้นเมืองพันธุ์แท้เริ่มมีปริมาณลดลง เพื่อรักษาพันธุกรรมที่ดีเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป

ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสุราษฎร์ธานี ร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการย้ายฝากตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์สัตว์ กลุ่มวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและความหลากหลายทางชีวภาพปศุสัตว์ สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง ได้ดำเนินการย้ายเก็บตัวอ่อนโคพื้นเมืองสายพันธุ์ภาคใต้ (วัวชน) จากการเหนี่ยวนำแม่ไว้ จำนวน 5 ตัว ทั้งนี้ จากการเอกซเรย์ท้องพบตัวอ่อนในท้องแม่ จำนวน 4 ตัว โดยเก็บตัวอ่อนได้ทั้งหมด 13 ตัวอ่อน ใช้ได้ 7 ตัวอ่อน จากนั้นนำไปเก็บเข้าธนาคารพันธุกรรม (Gene bank) เพื่ออนุรักษ์โคพื้นเมืองสายพันธุ์ภาคใต้ของประเทศไทยต่อไป นอกจากนั้น ทางทีมสัตวแพทย์ยังได้มีการเก็บตัวอย่างเลือดของแม่โคไปตรวจสอบด้วย

นายสัตวแพทย์ชาญยุทธ กาพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การเก็บตัวอ่อนโคพื้นเมืองสายพันธุ์ภาคใต้ (วัวชน) นั้น เป็นไปตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ ในโครงการอนุรักษ์สัตว์พันธุ์โคพื้นเมือง โดยการย้ายเก็บตัวอ่อน ส่วนหนึ่งเป็นการเก็บน้ำเชื้อของวัวชน ซึ่งเป็นวัวพื้นเมืองภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ประจำพื้นถิ่น เพื่อที่จะได้จัดเก็บพันธุกรรมที่ดีไว้ใช้ในอนาคตข้างหน้า ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ในธนาคารพันธุกรรม (Gene bank) และบางส่วนจะเอาไปให้เกษตรกรที่สนใจไว้ขยายพันธุ์ โดยเฉพาะน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่จะต้องใช้วิธีผสมเทียม ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีชีวภาพอีกขั้นหนึ่งต่อจากการผสมเทียม


โดยการผสมเทียมนั้น ลูกวัวที่ได้จะเป็นลูกผสมระหว่างแม่กับพ่อ แต่การย้ายฝากตัวอ่อน เมื่อได้ตัวอ่อนออกมาจะนำตัวอ่อนไปฝากไว้กับแม่อุ้มบุญ จะไม่มีพันธุกรรมของแม่ที่เอาไปฝาก เพียงแต่ตั้งท้องให้เฉยๆ ส่วนน้ำเชื้อจะต้องคัดมาจากพ่อพันธุ์โคพื้นเมืองภาคใต้ สายพันธุ์วัวชนตัวที่เก่งๆ โดยการเลือกสายพันธุ์ โครงสร้าง และประวัติการชน จัดว่าเป็นพ่อพันธุ์วัวชนที่ดี ทั้งนี้ เฉพาะน้ำเชื้อที่มีการซื้อขายกันนั้นหลอดละเป็น 10,000 บาท เพราะพ่อหายาก ซึ่งเป็นราคาที่แพง และเมื่อผสมเทียมแล้วจะได้ลูกเพียง 1 ตัว แต่หากนำน้ำเชื้อมาใช้วิธีย้ายฝากตัวอ่อน แต่ละแม่จะได้ตัวอ่อนหลายตัว หรือได้ลูกวัวชนหลายตัวนั่นเอง

ด้าน นายสว่าง อังกุโร อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและพัฒนาโคเนื้อ กรมปศุสัตว์ บอกว่า สำหรับวัวพันธุ์พื้นเมืองในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มภาคเหนือ คือ โคขาวลำพูน กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน คือ โคภาคอีสาน กลุ่มภาคกลาง คือ วัวลาน และกลุ่มภาคใต้ คือ วัวชน ซึ่งกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานในสังกัดภูมิภาค ได้พยายามเข้ามาส่งเสริม เนื่องจากวัวพื้นเมืองพันธุ์แท้มีปริมาณลดลง ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้จัดทำโครงการเพื่อเก็บรักษาพันธุกรรมที่ดีของวัวชนเอาไว้ ด้วยการขอน้ำเชื้อวัวชนตัวดีๆ เด็ดๆ เก่งๆ จากภาคเอกชนนำมาผสมเทียม ผสมพันธุ์ แล้วย้ายเก็บตัวอ่อน เพื่อรักษาพันธุกรรมที่ดีเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป






กำลังโหลดความคิดเห็น