ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สังเวยทะเลภูเก็ตระหว่าง ปลาย ก.ค. ถึงต้น ส.ค. แล้ว 6 ราย ลงเล่นน้ำในช่วงมรสุม ขณะที่ยอดบาดเจ็บและเสียชีวิตเริ่มตั้งแต่ปี 2566 พบสูงลิ่ว จังหวัดหามาตรการป้องกัน เผยสาเหตุส่วนใหญ่ฝ่าฝืนคำเตือน ฝ่าธงแดง
สำหรับจังหวัดภูเก็ตช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงมรสุม ทะเลมีคลื่นลมแรง ทำให้เกิดอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวจมน้ำบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงเดือน ส.ค. พบว่ามีนักท่องเที่ยว รวมทั้งคนไทยเสียชีวิตจากการลงเล่นน้ำแล้ว 6 ราย ซึ่งกระจายไปตามชายหาดต่างๆ ในภูเก็ต
ล่าสุด หนุ่มใหญ่เมืองเบียร์ฝ่าธงแดงลงเล่นน้ำหาดกะรนกับลูกชายวัย 11 ปี ถูกคลื่นซัดหายไปในทะเล เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดเข้าช่วยเหลือ แต่สุดท้ายไม่ทันการณ์ นำร่างกลับขึ้นมาได้แต่ยื้อชีวิตไม่ได้ สำหรับผู้เสียชีวิต คือ นาย JURGEN RAKF WILTZSCH อายุ 52 ปี สัญชาติเยอรมัน
จากการสอบถามทราบว่า ผู้เสียชีวิต และบุตรชายลงเล่นน้ำบริเวณหาดกะรน และถูกคลื่นลมแรงพัดพาผู้เสียชีวิตจมหายไปในทะเล ส่วนบุตรชายได้ว่ายน้ำกลับเข้าฝั่งได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดได้ค้นหาจนพบผู้เสียชีวิตไม่มีชีพจร เนื่องจากจมอยู่ในน้ำนาน
อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์นักท่องเที่ยว และคนไทย จมน้ำเนื่องจากลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเกิดขึ้นทุกวัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งในส่วนของทางจังหวัดภูเก็ต ได้มีการยกระดับมาตรการความปลอดภัยแก่ ประชาชนและนักท่องเที่ยว
โดยนายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ในนามของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงาน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มความเข้มในการรักษาความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางทะเล กำชับให้มีการติดตั้งธงแดง พร้อมกำชับให้ไลฟ์การ์ดเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลนักท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล ทุกอำเภอและทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเสริมกำลัง อปพร. และเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจภูธร ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในทุกจุด
ขณะที่เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประจำหาดป่าตอง ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวและประชาชนประสบอุบัติเหตุจมน้ำจนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ว่า ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงมรสุม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีคลื่นลมแรง คลื่นสูง ทะเลภุเก็ตมีความแตกต่างกับทะเลที่อื่นเนื่องจากร่องน้ำจะปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลาตามกระแสคลื่น และมีลักษณะเป็นท้องกระทะ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุจมน้ำ นอกจากเรื่องของคลื่นลมที่มีกำลังแรงแล้ว ยังมี 3 ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญ ประกอบด้วย 1.กระแสน้ำเปลี่ยนเร็ว แม้ว่านักท่องเที่ยวจะลงเล่นน้ำในจุดที่สามารถเล่นได้ แต่เมื่อเล่นไปสักพักกระแสน้ำจะพาคนที่กำลังเล่นน้ำไปยังจุดที่อันตราย ซึ่งคนที่ลงเล่นน้ำส่วนใหญ่ไม่ได้หันกลับมาดูว่าจุดที่ตัวเองเล่นน้ำยังอยู่ในจุดที่ปลอดภัย หรือจุดอันตราย จะเล่นไปเรื่อยโดยไม่รู้ตัวว่าถูกกระแสน้ำลากไปยังจุดอันตรายแล้ว ทำให้เกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้
2.นักท่องเที่ยวหรือคนที่ลงเล่นน้ำไม่เชื่อฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด ซึ่งเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะบอกว่าตัวเองว่ายน้ำเป็น ว่ายน้ำเก่ง และลงฝืนลงเล่นน้ำทั้งๆ ที่มีการเตือนไม่ให้ลงเล่นในจุดที่อันตราย และ 3.กลุ่มฝ่าฝืนธงแดงลงเล่นน้ำ โดยกลุ่มนี้ที่ลงเล่นน้ำโดยไม่สนใจอะไร จะมีการปักธงแดงหรือไม่ ก็ไม่สนใจ อยากลงเล่นน้ำจุดไหนก็ลงเลย
อย่างไรก็ตาม อยากขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการให้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวว่าอย่าลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด หรือช่วงกลางคืน เพราะเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด เวลาเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที และที่สำคัญทะเลมืด การค้นหาทำได้ลำบาก จะสังเกตได้ว่า มีนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิตเนื่องจากการจมน้ำในช่วงค่ำหลายรายแล้ว
สำหรับข้อมูลจากสถิติการจมน้ำของนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบว่า เมื่อปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 7 คน บาดเจ็บ 150 คน และในปี 2566 ผ่านมาแค่ 8 เดือน พบว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 11 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 280 รายแล้ว