xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเพื่อไทยกับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม

“ทักษิณ” กำลังจะกลับบ้าน และ “เพื่อไทย” กำลังได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นักธุรกิจหมื่นล้าน ผู้ประสบความสำเร็จจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย โดยพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน

คาดการณ์ว่า จะมีการฟอร์มรัฐบาลได้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ทั้งหมดคือ “ข่าวดีสำหรับประเทศไทย” ที่จะได้มีการขับเคลื่อนประเทศเดินไปข้างหน้าท่ามกลางปัญหาอุปสรรคที่รุมเร้า โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจและปากท้องของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่ประสบกับปัญหาความยากจน ว่างงาน ค่าแรงคงที่ สินค้าและราคาพลังงานสูงลิบลิ่ว

โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง ผ่านมา 19 ปียังอยู่ในกับดักและวังวนเรื่อง “การแบ่งแยกดินแดน” ที่ทำให้การพัฒนาไม่เดินหน้าไปตามความต้องการ โครงการการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงาน-สร้างเงิน สร้างอนาคต-สร้างคุณภาพชีวิต เพื่อยกระดับคนในพื้นที่ที่เห็นก็มีอยู่ที่ อ.หนองจิก คือ โรงงานอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่โรง และโรงงานรับซื้อทุเรียนเพื่อแปรรูปที่ อ.เทพา จ.สงขลา เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการสร้างงาน-สร้างเงินให้คนในพื้นที่

แรงงานที่ว่างงานจึงยังคงหาทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความอยู่รอดและส่งเงินกลับมาเลี้ยงดูเด็กและคนชราที่ยังอยู่ในพื้นที่ ในขณะที่การเติบโตของการท่องเที่ยวยังกระจุกตัวอยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา เท่านั้น เช่นเดียวกับผลผลิตของเกษตรกรที่ราคายางพารายังคงตกต่ำต่อเนื่อง มีเพียงเกษตรกรที่ทำสวนทุเรียนเท่านั้นที่ลืมตาอ้าปากได้ แต่เป็นคนส่วนน้อย เพราะการทำสวนทุเรียนต้องใช้ทุน ใช้ความรู้ และใส่ใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำไม่ได้

หนึ่งในแผนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบ คือการเสนอ โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา หรือบางคนเรียกว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คือ ทางออก ในมิติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม ที่จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และคนว่างงานทั้งระบบ ซึ่งหมายถึงผู้จบการศึกษาทั้งเก่าและใหม่มีโอกาสที่จะมีงานทำ

แต่…โครงการนี้มีปัญหาอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้น หลังจากการเข้ามาขับเคลื่อนของ ศอ.บต. เพราะมีการต่อต้านจากผู้มีอาชีพประมงพื้นบ้านจำนวนไม่ถึง 200 คน ที่มี “เอ็นจีโอ” เป็นแกนนำ มีการประท้วงในหลากหลายรูปแบบ โดยกล่าวหาว่า ศอ.บต.ทำโครงการแบบลัดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

จนสุดท้ายรัฐบาลที่ไม่กล้าขัดใจเอ็นจีโอ เพราะ “เอ็นจีโอตัวแม่” มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล จึงมีการสั่งชะลอโครงการและเปลี่ยนเจ้าภาพจาก ศอ.บต. มาเป็น “สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) เป็นผู้ทำการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

จากการติดตามความเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ของ ศสช. พบว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความล่าช้า เหมือนกับไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือ “มีธง” ที่จะขับเคลื่อนแบบ “ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” เช่น การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครั้งใหม่ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีความโน้มเอียงไปยังกลุ่มเอ็นจีโอ การส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่เลือกที่จะพบกับกลุ่มผู้เห็นต่างมากกว่าผู้เห็นด้วย การเดินหน้าเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และการเดินหน้าเพื่อแก้กฎหมายผังเมืองหยุดนิ่งไม่ไหวติง แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องของโควิด-19 แล้วก็ตาม

แต่โครงการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการขับเคลื่อนให้เกิด “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่เป็นการลงทุนของเอกชนในวงเงิน 600,000 ล้านบาท ก็ยังไม่ได้มีการยกเลิก แต่มีการสะดุด ไม่มีการลื่นไหล และไม่มีความหวังกับคนในพื้นที่ แม้ว่า หอการค้าจังหวัดสงขลาและเครือข่ายประกาศชัดเจนว่าเห็นด้วย และพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้ก็ตาม

ดังนั้น โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ อ.จะนะ จ.สงขลา จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาขับเคลื่อน ซึ่งต้องดูท่าทีของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมว่ามีความเห็นอย่างไรกับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการส่งเสริมให้มีโครงการที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น เพื่อการสร้างงาน-สร้างเงิน ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่สำคัญ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเป็นการลงทุนของเอกชน ที่น่าจะเหมาะสมกับการพัฒนาและการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล ในภาวะที่ประเทศไทยมีหนี้สินรุงรังจากการ “กู้แล้วกู้อีก” ของรัฐบาล “ลุงตู่” เพราะเป็นการการลงทุนที่ไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ

คงจะต้องดูกันต่อไปว่า “เพื่อไทย” ที่จะเป็นรัฐบาลและพรรคร่วมจะมีแนวทางอย่างไรกับการพัฒนาประเทศในแง่ของเศรษฐกิจ-ปากท้องของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วันนี้มองไปทางไหนยังมีแต่ปมแห่งความขัดแย้งและแผนการพัฒนาที่ล้มเหลว เพราะรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่มีการทุ่มเทกับการแก้ปัญหาความยากจนของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่ควรจะเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น