xs
xsm
sm
md
lg

ทสจ.ภูเก็ตฟันชุดแรกปรับ 1 ล้าน สถานประกอบการ 500 แห่ง ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ EIA และ IEE ประจำปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หนาว! สถานประกอบการไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ EIA และ IEE ประจำปี ทสจ.ภูเก็ต ลงดาบล็อตแรก 500 แห่ง มีโทษปรับสูงสุดแห่งละ 1 ล้าน ยังเหลือตามมาอีกเพียบ


นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต (ทสจ.) เปิดเผยถึงความความคืบหน้ากรณีเจ้าของสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตไม่รายงานมอนิเตอร์ EIA และ IEE ประจำปี ว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อม ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้เป็นปี 2560 ในการควบคุมดูแลอาคารต่างๆ ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โครงการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องจัดทำและส่งรายงานมอนิเตอร์ ประจำปี ปีละ 1-2 ครั้ง ตามที่กำหนดในเงื่อนไขการจัดทำรายงานบทวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบเบื้องต้น (IEE) มีไม่ต่ำกว่า 2,000 โครงการ

ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต ได้แจ้งเตือนให้ทางโครงการต่างๆ ทั้ง 2,000 กว่าโครงการ จัดส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีไปแล้ว 2-3 ครั้ง ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ท่าเรือ โครงการบ้านจัดสรรใหญ่ๆ และสถานประกอบการอื่นๆ ที่เข้าข่ายต้องทำรายงาน EIA และ IEE ซึ่งสามารถดูได้ในระบบ EIA Smart Plus ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่ามีโครงการใดได้จัดส่งรายงานดังกล่าวบ้าง

อย่างไรก็ตาม หลังมีการแจ้งเตือนพบว่ามีการส่งผลรายงานมอนิเตอร์ประจำปีมาเพียงบางส่วนเท่านั้น และยังมีสถานประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ส่ง ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลชุดแรก พบว่ามีสถานประกอบการประมาณ 4-500 แห่ง ที่จะต้องดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย ซึ่งการเปรียบเทียบปรับนั้นมีอัตราการปรับสูงสุดอยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งนอกจาก 4-500 แห่งนี้พบว่ายังมีอีกมากที่ยังไม่ดำเนินการ ซึ่งจะมีการเปรียบเทียบปรับเช่นเดียวกัน

“หลังจากนี้เราจะดำเนินการอย่างจริงจังกับสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะได้มีการแจ้งเตือนมาแล้วหลายครั้ง และวันสุดท้ายของการส่งรายงานมอนิเตอร์คือในวันที่ 31 ม.ค.2566 นี้ แม้ว่าที่ผ่านมาในภูเก็ตจะยังไม่เคยเปรียบเทียบปรับผู้ที่ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ประจำปีก็ตาม แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,800 กว่าแห่ง”

นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสาเหตุที่ทางสถานประกอบการต่างๆ ไม่ส่งรายงานมอนิเตอร์ EIA และ IEE ประจำปี ส่วนใหญ่อ้างว่าไม่รู้ และบางส่วนไม่กลัวการถูกเปรียบเทียบปรับ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเปรียบเทียบปรับเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเพิ่งมีผลบังคับใช้ แต่หลังจากนี้จะดำเนินการอย่างจริงจัง

การดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ EIA และ IEE นั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับจังหวัดภูเก็ตที่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่จะต้องดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำเสียจะตามมาหากโครงการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้ง โรงแรม คอนโดฯ และอื่นๆ ไม่ได้ดูแลในเรื่องนี้ ปัญหาน้ำเสียจะตามมาอย่างแน่นอน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาวันละกว่า 4 หมื่นคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน หากสถานประกอบการไม่ดูแลเรื่องน้ำเสีย เชื่อว่าปัญหานี้จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น