xs
xsm
sm
md
lg

“ประชาธิปัตย์” ผลัดใบเพื่อไปสู่พรรคการเมืองระดับประเทศหรือแค่ท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทัศนะ โดย.. เมือง ไม้ขม
แม้จะถูกขนานนามว่าเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่และเป็นสถาบันทางการเมืองของประเทศ แต่ “พรรคประชาธิปัตย์” ก็เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีลักษณะของ “เด็กอนุบาล” ที่คนในพรรคมีการ “ถีบถอง ชกต่อย” เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

และที่สำคัญเป็นพรรคการเมืองที่มีก๊วน ที่เป็นกลุ่ม เป็นภาค ที่มักจะมีเรื่องขัดแย้ง แบ่งเหล่าให้เป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ เกิดขึ้นไม่ได้ขาด และส่วนใหญ่ก็เป็นภาพลบมากกว่าภาพบวก

เช่นเดียวกับหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ “ประชาธิปัตย์” ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ เพราะจำนวน ส.ส.ที่ได้มาเพียง 25 ที่นั่ง ทั้งจากเขตและจากบัญชีรายชื่อ ซึ่งตกต่ำกว่าการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ “ขี้เป็ดขี้ไก่” ก็ยังได้มาถึง 52 เสียง ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งนี้

โดยเฉพาะในสมรภูมิภาคใต้ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญของ “ประชาธิปัตย์” มีเพียง 2 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่ขี้เหร่ คือ “สงขลา” และ “นครศรีธรรมราช” แต่ก็ไม่ได้ ส.ส.ยกจังหวัดอย่างที่มีการคุยโม้โอ้อวดกันไว้ในตอนหาเสียง

ส่วนในจังหวัดอื่นๆ นั้นกลายเป็นพื้นที่สอบตก เพราะถูกแย่งที่นั่งจากภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และก้าวไกล

ที่สำคัญ คะแนนบัญชีรายชื่อที่เคยได้ถึง 10 ล้านเสียงทั่วประเทศ เลือกตั้งครั้งนี้เหลือเพียง 9 แสนเสียง ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียง 3 คนเท่านั้น

ผลพวงจากการแพ้แบบ “ญญ่ายพ่ายจะแจ” ครั้งนี้ ทำให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค และ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคต้องจำนนต่อหลักฐานด้วยการแสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพื่อเข้ามากอบกู้สร้างพรรคกันใหม่ เพื่อรับมือการเลือกตั้งในสมัยหน้าที่คาดว่าไม่นาน เพราะรัฐบาลใหม่อาจจะอายุสั้นจากมรสุมทางการเมือง เศรษฐกิจ และความแตกแยกที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้

แต่...นั่นแหละ “ประชาธิปัตย์ ก็คือ ประชาธิปัตย์” ที่เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ แต่นิสัย “เด็กอนุบาล” พอเริ่มมีการเลือกตั้งก็แบ่งพวก แบ่งก๊วน และทุบถองชกต่อยกันจนชุลมุนวุ่นวายให้ขายขี้หน้าชาวประชาทั่วประเทศ

และสุดท้ายการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้มีการเล่นเกมระหว่าง “กลุ่มที่ต้องการหนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค กับ “กลุ่มของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่แม้จะประกาศว่า ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” ได้ ส.ส.น้อยกว่าครั้งที่แล้วจะวางมือทางการเมืองก็เป็นการวางมือที่ไม่จริง เพราะเป็นกลุ่มที่เดินเกมในการไม่เอา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นหัวหน้าพรรค สุดท้ายการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคของ “ประชาธิปัตย์” ก็ล่มกลางคัน ต้องมีการนัดประชุมครั้งใหม่ในวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา

และก็เป็นแบบ “ประชาธิปัตย์” อีกนั่นแหละ ที่มีการเล่นเกมและกลุ่มก๊วนเพื่อหวังชัยชนะ ด้วยการแก้กฎระเบียบข้อบังคับให้เพิ่มจำนวนกรรมการภาคเพิ่มขึ้นอีกภาคละ 24 คน เพื่อโหวตให้กลุ่มของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่ต้องการหนุน “นราพัฒน์ แก้วทอง” ส.ส.พิจิตร ให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ของ “ประชาธิปัตย์” ให้ได้ชัยชนะ

จนเป็นเหตุให้ “รักษาการรองหัวหน้าพรรค 5 คน” ทำหนังสือคัดค้านไม่เห็นด้วย จนสุดท้ายต้องมีการเลื่อนการประชุมใหญ่เพื่อการเลือกหัวหน้าพรรค จากวันที่ 23 ก.ค.ออกไปก่อน และยังไม่ได้กำหนดว่าการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะเป็นวันไหน

มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความแตกแยกที่เกิดขึ้นใน “ประชาธิปัตย์” มาจาก 2 ปัจจัย คือ กลุ่มที่หนุนให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เห็นว่า “อภิสิทธิ์” มีความเหมาะสมที่สุด เพราะมีภาพของนักการเมืองระดับชาติที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เป็นที่รู้จักของเวทีโลก มีความรู้ความสามารถที่น่าจะดีกว่าคนอื่นๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ในข่ายของการเป็นผู้นำพรรคได้

แต่แนวทางของ “อภิสิทธิ์” ถ้าเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ก็เป็นที่รู้กันว่า จะไม่นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการนำของ “เพื่อไทย” หรือของพรรคการเมืองอื่น ที่อาจจะมีการหักเหทางการเมือง ซึ่งกลุ่มของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” มีความคิดที่จะนำ “ประชาธิปัตย์” เข้าร่วมในการเป็นรัฐบาล ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะเป็นผู้จัดตั้ง เพราะเชื่อมั่นว่าจำนวน ส.ส. 25 เสียงต้องได้โควตา “รัฐมนตรี” ไม่น้อยกว่า 2 ตำแหน่ง และมีการนินทากันว่า มีความมั่นใจว่าจะได้ร่วมรัฐบาล จนมีการจอง “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

โดยข้อเท็จจริง “พรรคประชาธิปัตย์” หลังพ่ายแพ้แบบหมดรูปหมดทรงในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรื่องแรกที่ต้องคิดและทำคือการกอบกู้พรรคด้วยการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารที่ดีที่สุดเข้ามาแก้ปัญหาความตกต่ำของพรรคที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การ ค้นหาปัจจัยของความพ่ายแพ้และการสร้างนโยบายทางการเมืองที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน เพื่อการที่จะได้ ส.ส.ที่มากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“ประชาธิปัตย์” ต้องคืนสู่ฟอร์มของ “ประชาธิปัตย์” ด้วยการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ด้วยการทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งถึงแม้ว่า “ประชาธิปัตย์” วันนี้จะไม่มีขุนพลฝีปากกล้า แต่ยังมีมวยหลัก เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ ส.ส.อีกหลายคนที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การที่กลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ได้คิดว่าเรื่องสำคัญของ “ประชาธิปัตย์” คือเรื่องการ “กอบกู้พรรค” คิดแต่เรื่องสำคัญคือการนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล โดยมุ่งหวังในเรื่องตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ในกระทรวงใหญ่ๆ ที่มีงบประมาณมากๆ เป็นเรื่องสำคัญ และเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่เห็นด้วยกับแนวทางการนำพรรคไปร่วมรัฐบาลจึงน่าจะเป็นนโยบายที่ผิดพลาด และไม่มีโอกาสที่จะนำพรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นพรรคการเมืองระดับประเทศอีกต่อไป

ประชาธิปัตย์” กำลังคิดแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้มันสมองว่า ในการเลือกตั้งสมัยหน้า สนามเลือกตั้งจะไม่มีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติมาเป็นพรรคคู่แข่งที่เข้ามาแชร์ที่นั่งของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ เพราะ “2 ลุง” วางมือทางการเมืองไปแล้ว และ “ประชาธิปัตย์” จะได้ ส.ส.ที่สูญเสียไปกลับมา แค่คิดก็ผิดแล้ว

ดังนั้น ถ้า “ประชาธิปัตย์” ได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ไม่เป็นสากล เป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่มีจุดขาย ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง และเดินตามนโยบายของ “ผู้มีบารมี” ที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารพรรค เพื่อหวังเพียงการ “ถอนทุน” จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มีการทุ่มทุนเป็นจำนวนมากแต่ล้มเหลว อนาคตของ “ประชาธิปัตย์” ในการเลือกตั้งในอีก 2 ปีหรือ 4 ปีข้างหน้า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองระดับชาติหรือระดับประเทศจะไม่เกิดขึ้น

และสุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเพียงพรรคการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาคใต้ เพราะจะมี ส.ส.เพียงไม่กี่จังหวัดของภาคใต้เช่นเดียวกับ “พรรคประชาชาติ” ที่เป็นพรรคการเมืองของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง

นี่คือชะตากรรมที่สยดสยองยิ่งนักสำหรับพรรคการเมืองเก่าแก่เกือบ 100 ปีของประเทศไทย ที่อาจจะเป็นอดีต ถ้าคนของพรรคประชาธิปัตย์ยังแตกแยกและมีกลุ่มก๊วนเพื่อแย่งชิงการเข้ามีอำนาจในพรรค โดยมีเป้าหมายเพียงเข้าร่วมเป็นรัฐบาลเพียงอย่างเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น