พังงา - อันดามันคลื่นลมแรง คลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าท่าเรือบ้านน้ำเค็ม-เกาะคอเขา เรือข้ามฟากต้องหยุดให้บริการชั่วคราว จังหวัดลงพื้นที่แก้ปัญหาระยะยาวให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ทุกฤดูกาล
วันนี้ (21 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าท่าเรือบ้านน้ำเค็ม หมู่ที่ 2 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้เดินทางข้ามฟากระหว่างบ้านน้ำเค็ม-เกาะคอเขา ส่งผลให้น้ำทะเลพัดขึ้นมาถึงบริเวณลานจอดรถที่นักท่องเที่ยวและประชาชนไว้จอดรถระหว่างรอข้ามเรือไป ต.เกาะคอเขา ทำให้ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถนำรถมาจอดได้
ส่วนผู้ประกอบการเรือข้ามฟากที่บ้านน้ำเค็ม ไปเกาะคอเขา ที่บริการชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต้องหยุดให้บริการนำเรือไปจอดหลบลมในช่วงที่ฝนตกหนัก ทำให้คลื่นแรง ทำให้การสัญจรไปมาของประชาชนบนเกาะคอเขา สู่บ้านน้ำเค็ม เป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อเวลาเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางข้ามฝั่งได้ จากสภาพคลื่นลมแรง เพราะเรือต้องหยุดให้บริการ
ล่าสุด นายเฉลิมศักดิ์ นุชประหาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ร่วมกับนายนันทศักดิ์ เอียดตรง ปลัดอำเภอตะกั่วป่า นายสุดจิตร ลิ่มพานิช นายก อบต.เกาะคอเขา นายธงชัย หันช่อ นายก อบต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า พร้อมหน่วยงานที่รับผิดชอบลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้ผู้บริหารทั้ง 2 อบต.หาวิธีการปรับปรุงก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านน้ำเค็ม-เกาะคอเขา เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยวที่เข้า ออกขึ้นลงเรือสัญจรไปมาอย่างสะดวก
โดยทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้ประชุมสรุปประสานงานกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งออกแบบปรับปรุงก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านน้ำเค็ม เพื่อรองรับประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยในช่วงมรสุมคลื่นลมแรง และเมื่อยามเจ็บป่วยสามารถนำคนป่วยลงเรือส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตะกั่วป่าได้
นายเฉลิมศักดิ์ นุชประหาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเกาะคอเขา และพี่น้องชาวบ้านน้ำเค็ม ว่า ในช่วงที่มีลมมรสุม แพขนานยนต์และเรือไม่สามารถจอดเทียบท่าได้ปีหนึ่งประมาณ 6 เดือน ได้ลงพื้นที่มาพร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะมาดูสภาพความเป็นจริง โดยจะให้ทางเจ้าท่าพังงาประสานกรมเจ้าท่า เพื่อออกแบบปรับปรุงท่าเทียบเรือให้สอดคล้องกับสภาวะ คลื่นลมแรงในช่วงมรสุม เพื่อให้ชาวบ้านเดินทางสัญจรข้ามแพได้ในช่วงมรสุม
ในช่วงที่ 2 ให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองไปสำรวจ พร้อมทั้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วง สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง โดยในช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ทางกรมเจ้าท่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาออกแบบเพื่อให้พี่น้องประชาชนนำเรือ หรือแพขนานยนต์เข้ามาจอดเทียบท่าได้ในช่วงที่มีมรสุม โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้สึกเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่ต้องเดินทางสัญจรช่วงมรสุมอย่างมาก