คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
วันนี้การเมืองไทยเดินเข้าสู่กับดักความขัดแย้งครั้งใหญ่ จนอาจเกิดม็อบลงถนนแบบย้อนกงล้อประวัติศาสตร์เหมือนครั้งที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเสื้อสีต่างกัน หรือไปไกลได้ถึงเหตุการณ์ตุลามหาวิปโยคก็เป็นได้
ส่วนจะจบลงอย่างไรคงต้องจับตากันต่อ อาจยุติได้ด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ หรือไม่ก็นองเลือด และก็เป็นไปได้ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยแบบที่เคยเกิดไม่นานมานี้คือ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนำไปสู่การการยึดอำนาจของคณะนายทหารอีกครั้ง
สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายปีมานี้บรรดา “แม่ทัพนายกอง” ในพื้นที่ต่างออกมาพร่ำบ่นว่า มีแต่ดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเข้าใจ การก่อเหตุลดลง และกำชับว่าในปี 2570 ไฟใต้จะมอดดับพร้อมการถอนทหารและยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ
ต้องบอกว่า สายตาของแม่ทัพนายกองที่มองแผ่นดินไฟใต้ เป็นการสอดส่ายแบบไม่ครบทุกมิติ หรือต้องการพูด “ให้ดูดีเพื่อเอาตัวรอด” เพราะหลังจากพ้นตำแหน่งก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้พร่ำพูดไปแล้ว
เพราะโดยข้อเท็จจริง นอกจากไฟใต้แทบไม่เคยสงบเรียบร้อย แถมสถานการณ์เวลานี้ดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงเดินเข้าสู่ “กับดัก” ตลอดเวลา ซึ่งเวลานี้ยิ่งชัดเจนว่าบรรดาประเทศตะวันตกได้เข้ามายุ่มย่ามแบบ “ลงหลักปักฐาน” ในชายแดนใต้แบบมีจุดประสงค์ “ซ่อนเร้น” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยชาติตะวันตกใช้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของไทยเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ “แอบแฝง” ไว้นั่นเอง
จากการจับตาดูมาอย่างใกล้ชิดพบว่า ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง มีการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธ และภาคประชาสังคมที่เป็น “ปีกทางการเมือง” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นคึกคัก และเป็นไปแบบต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้
ยิ่งช่วงหลังเลือกตั้งการขับเคลื่อนของฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องนับเป็นอีกบริบทหนึ่งที่ “สอดรับ” กับนโยบายพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก และคาดกันว่าจะได้เข้ามาบริหารประเทศ
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ ความเคลื่อนไหวของ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ที่จัดให้มีการ “ทดลองลงประชามติ” เกี่ยวกับแนวคิดแยกดินแดนเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เป็นที่รู้กันดีในกลุ่มผู้วางแผนจัดกิจกรรมว่า สิ่งที่ตามมาคือ ต้องถูกหน่วยงานความมั่นคงใช้กฎหมายเล่นงาน ถึงขั้นถูกแจ้งความดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา ภาคประชาสังคมและนักการเมือง ซึ่งก็เป็นจริง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ได้เดินเข้าสู่กับดักแบบรู้ตัว หรือต้องเดินตามเกมที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นบังคับให้เดิน เพราะถ้าไม่ใช้กฎหมายจัดการ นั่นแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปกครองของ “รัฐไทย” ที่ใช้นิติรัฐกับพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ได้
เมื่อจำต้องเดินตามเกม ก็เท่ากับตกลงไปใน “บ่วงการเมือง” โดยเฉพาะงานด้านการสร้างมวลชนของบีอาร์เอ็น ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะแก้ “กลศึก” นี้อย่างไร
นอกจากนี้แล้ว หลังเหตุวิสามัญฆาตกรรม “ซารียา สะอิ” ที่บ้านควนลาแม ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งฝ่ายรัฐต้องสูญเสีย “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน” ไปในการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนั้นด้วย
ปรากฏว่า สิ่งที่ตามมาคือ ฝ่ายบีอาร์เอ็นนำไปขยายมวลชนได้อย่างเป็นผลมาก เพราะมีเหตุการณ์ต่อเนื่องมาคือ มีมวลชนจำนวนมากไปห้อมล้อม ตั้งแต่การนำศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ ถือเป็นการสร้างมวลชนโต้กลับมามากดดันเจ้าหน้าที่ อีกทั้งช่วงนำศพไปทำพิธีฝังยังกุโบร์ก็มีการแห่อย่างยกย่องว่าเป็นการ “ชาอีด” หรือพลีชีพ มีการตะโกน “สรรเสริญพระเจ้า” และคำว่า “ปาตานีเมอร์เดกา” ไปตลอดระยะทาง
ไม่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์วิสามัญฯ “ซาการียา สะอิ” ยังถูกนำไปใช้ปลุกระดมมวลชนต่อเนื่องมา โดยภาคประชาสังคมใต้ปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นนำไปทำไอโอ (IO) ปลุกระดมทั้งแผ่นป้ายและพิมพ์บนเสื้อ เช่น “ลุกขึ้นเถิดเยาวชนปาตานี” หรือ “เยาวชนปาตานีจงลุกขึ้น” เป็นต้น
ก็ต้องติดตามกันต่อไปอีกแหละว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะแก้กลเกมปีกการเมืองฝ่ายบีอาร์เอ็นในลักษณะนี้ได้อย่างไร
เชื่อว่าข้อมูลที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจำต้องปฏิเสธ หากผู้เขียนนำมาเผยแพร่คือ ณ ปัจจุบันนี้กลุ่มเยาวชนที่ผ่านการฝึกฝนและเป็นมวลชนแข็งขันให้บีอารเอ็นมีมากถึงกว่า 100,000 คน หรือเฉลี่ยมีเยาวชนผ่านการฝึกปีละ 3,800 คน นับตั้งแต่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2538
ที่สำคัญ ในกลุ่มเยาวชนที่ผ่านการฝึกเข้มเหล่านี้เป็น “หญิง” มากถึง 70% โดยทำหน้าที่เป็น “แนวร่วม” ส่วน “ชาย” มักถูกส่งให้ไปทำหน้าที่ “นักรบเปอร์มูดอ” หรือนักรบหน้าขาว ซึ่งจะพัฒนาเป็น “อาร์เคเค” หรือกองกำลังติดอาวุธในที่สุด
สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นสถานการณ์จริงของชายแดนใต้ แต่เชื่อไหมว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าพยายามปิดบังอำพรางกับหน่วยงาน “ส่วนกลาง” โดยเฉพาะกับ “กระทรวงกลาโหม” ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับก่อนหน้านี้ ที่พยายามพร่ำบ่นว่าไม่มีขบวนการบีอาร์เอ็น
เนื่องเพราะข้อเท็จจริงเหล่านี้ “แสลงหู” บรรดา “ผู้นำรัฐบาล” ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเป็น “กองทัพ” หรือ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)” ต่างมีข้อมูลกันหมดแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีคำถามว่า รัฐบาล กระทรวงกลาโหม กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามัวทำอะไรกันอยู่ แล้วงบประมาณที่ใช้ไปแล้วมากมายก่ายกอง หรือเฉลี่ยปีละกว่า 30,000 ล้านบาทนั้น ทำไมจึงทำให้ไฟใต้สิ้นเชื้อไม่ได้
จริงหรือที่ไฟใต้จะยุติลงได้ในปี 2570 อย่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้รับผิดชอบสถานการณ์ชายแดนใต้โดยตรงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเอาไว้
ณ เวลานี้ ไฟใต้ถูกทำให้เป็นเรื่อง “การเมือง” มากกว่าเรื่อง “การทหาร” หรือ “การต่างประเทศ”
ฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังเดินหน้าจัดตั้งกันอย่างเคร่งเครียดเข้มข้นว่า ต้องมีข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายอย่างรู้เท่าทันฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะอย่าไว้ใจบรรดา “นายพลล็อบบี้ยิสต์” ที่พร้อมเปิดประตูให้องค์กรจากชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงปัญหาไฟใต้
เพราะนั่นถือเป็น “กับดัก” อีกด้านหนึ่งที่ถูกวางเอาไว้เพื่อ “รัฐไทย” ตกหลุมพรางของฝ่าย “บีอาร์เอ็น” นั่นเอง