xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเพาะขยายพันธุ์ “วัวชนแท้ภาคใต้” ไม่ให้สูญหาย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง เร่งศึกษาและเพาะขยายพันธุ์ “วัวชนแท้ภาคใต้” ทั้งการผสมเทียม และการย้ายฝากตัวอ่อน เพื่อรักษาสายพันธุ์ไม่ให้สูญหาย พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร

ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง (ศบส.) ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ขณะนี้กำลังมีการเพาะขยายพันธุ์ และอนุรักษ์โคพันธุ์พื้นเมือง (วัวชน) ภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันกีฬาชนโคได้กลายเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ โดยล่าสุด ทางศูนย์ฯ ได้เปิดให้มีการประมูลโคพันธุ์พื้นเมือง (วัวชน) รวมทั้งหมด 39 ตัว ทั้งแม่พันธุ์คัดออก จำนวน 7 ตัว โคพันธุ์คัดออก จำนวน 7 ตัว และโคคัดออก จำนวน 25 ตัว ปรากฏว่ามีเกษตรกรที่เฝ้าติดตามข่าวสารการเปิดประมูลโคพันธุ์พื้นเมือง (วัวชน) ของศูนย์ฯ ทั้งจากในตำบล ต่างตำบล รวมทั้งต่างอำเภอ และจากต่างจังหวัด เช่น สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นทั้งเกษตรกรทั่วไป และค่ายวัวชนต่างๆ จากจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาร่วมประมูลกันคึกคัก โดยเริ่มจากราคากลางของแต่ละตัว หลังจากนั้นเปิดให้ประมูล โดยเริ่มต้นราคาบวกครั้งละ 100 บาทอย่างต่ำ


นายอนันต์ ชูช่วย เกษตรกรเลี้ยงวัวในพื้นที่หมู่ 4 ต.บางกุ้ง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง (ศบส.) บอกว่า ตนเองจะมาประมูลโคพันธุ์พื้นเมือง (วัวชน) ทุกครั้งที่ศูนย์ฯ เปิดให้มีการประมูล ได้เท่าไหร่ก็เอาหมด แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทัน เพราะทุกคนแย่งกันประมูล ซึ่งจะได้ราคาที่ถูกกว่าการไปซื้อจากที่อื่น และได้วัวชนพันธุ์แท้ เลี้ยงง่าย ส่วนใหญ่ตนเองจะประมูลตัวเมียทั้งแม่และลูก เพื่อเอาไปเลี้ยงทำแม่พันธุ์ให้ออกลูกไว้เลี้ยงขาย แต่บางคนก็ประมูลเอาไปขุนทำวัวชน

ด้านนายไพบูลย์ ศรีสิทธิยานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง (ศบส.) บอกว่า โคพันธุ์พื้นเมือง (วัวชน) ที่ศูนย์ฯ ขณะนี้มีรวมกันกว่า 250 ตัว มีแม่พันธุ์ 100 กว่าตัว ทำให้ผลิตลูกได้ปีละเป็น 100 ตัว เพราะแม่วัวพื้นเมืองที่นี่จะผลิตลูกได้ปีละตัว ซึ่งถือว่าผลิตได้มากเกินเป้าที่ทางราชการให้เลี้ยง โดยทางวิชาการต้องการแค่ 75% แต่ของศูนย์ฯ ผลิตได้เป็น 100% ทำให้ต้องคัดออก โดยการเปิดประมูลเพื่อต้องการกระจายพันธุ์ให้เกษตรกรเอาไปเลี้ยง ทำพ่อพันธุ์ ทำแม่พันธุ์ รวมทั้งแม่พันธุ์ที่คัดออกยังสามารถเอาไปเลี้ยงผลิตลูกต่อได้อีก ส่วนตัวผู้เอาไปขุนทำวัวชน ต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้มาก ซึ่งทราบว่าวัวชนบางตัวที่เป็นผลผลิตจากศูนย์ฯ มีชื่อเสียงจนราคาพุ่งสูงถึง 2 ล้านบาท โดยข้อดีของโคพันธุ์พื้นเมืองคือให้ลูก 100% ปีละตัว กินหญ้าน้อย มีการจับสัตว์เก่ง ผสมพันธุ์ง่าย ต่างกับสายพันธุ์อื่นที่กินหญ้ามาก ผสมพันธุ์ยาก จับสัตว์ไม่เก่ง และมีลูก 3 ปี 2 ตัว


ทั้งนี้ โคพันธุ์พื้นเมืองของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตรัง จะทำในรูปแบบการอนุรักษ์ และพัฒนาสายพันธุ์ โดยเน้นในเรื่องการเป็นวัวชนเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อรักษาสายพันธุ์วัวชนแท้ของภาคใต้เอาไว้ ก่อนจะสูญหายไปกลายเป็นวัวพันทาง (ลูกผสมหรือไม่แท้) นอกจากนั้น ทางศูนย์ฯ ยังได้ทำการวิจัยในหลายๆ ด้านด้วย โดยเฉพาะการนำวิธีการผสมเทียมเข้ามาใช้ ด้วยการไปขอน้ำเชื้อวัวชนสายพันธุ์ดีๆ จากเกษตรกร รวมทั้งการย้ายฝากตัวอ่อน เพื่อคัดวัวชนพันธุ์ดี และผลิตหญ้าสำหรับเลี้ยงโค ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาสัตวบาลปีละเกือบ 100 คน โดยในภาคใต้ขณะนี้มีศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ 5 แห่ง ที่กำลังเดินหน้าพัฒนาโคพันธุ์พื้นเมือง (วัวชน) ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่ออนุรักษ์และรักษาสายพันธุ์ไม่ให้สูญหาย พร้อมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น