xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวย่าง 2 ทศวรรษกับความรู้สึกช้ำๆ ซ้ำๆ ของเหยื่อความรุนแรงในชายแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากการสูญเสียบุคคลที่รักทั้ง 2 คน แม้จะอยู่คนละฟากฝั่ง แต่ความเป็นสายเลือดไม่สามารถตัดขาดกันได้ คนหนึ่งเป็นฝ่ายรัฐ สังกัดกรมการปกครอง ทำหน้าที่เป็น "ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน" อีกคนเป็น "นักรบจูแวปาตานี" สังกัดกองกำลัง BRN มีหมายจับแขวนคอไว้หลายหมาย ทั้งสองฝ่ายหลังเสียชีวิตได้รับการสรรเสริญอย่างสมเกียรติทั้งคู่ แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะเคยเกิดขึ้นในพื้นที่มาอย่างโชกโชน แต่ไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะเกิดกับครอบครัวของตัวเอง

“เขาจากไปโดยยังไม่ได้บอกกล่าวอะไรสักคำ ไม่ได้ร่ำลา ไม่มีแม้แต่คำสั่งเสียใดๆ วันเกิดเหตุเขาออกไปทำงานตามปกติ วันนั้นทั้งวันไม่ได้เจอกัน ไม่ได้คุยกันเลย มารู้อีกทีก็ตอน 8 โมง 10 นาที ว่าเขาถูกยิง ลูกสาวเป็นคนโทร.มาบอกว่า มามี๊ ป๊าโดนยิง ตอนนั้นก็ยังคิดว่าเขาจะรอด 50 คือไม่ตาย ตนได้รีบขับรถกลับมาที่บ้าน เมื่อมาถึงมีตำรวจรออยู่ แล้วบอกว่าให้ใจเย็นๆ ทำใจดีๆ ตอนนี้ยังเอาสามีเราออกมาไม่ได้นะ ได้ยินแบบนั้นเราก็รู้แล้วว่าเขาไม่รอด เข่าแทบทรุด มันตื้อไปหมด ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องจริง” ความรู้สึกของ นางศศิธร หะยีเลาะ ภรรยาของ นายอาหมะกอซี หะยีเลาะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงเสียชีวิต ขณะร่วมปฏิบัติหน้าที่เข้าไปเจรจาให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงยอมมอบตัว เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 ผู้ที่ต้องกลายเป็นหญิงหม้ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นางศศิธร ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสามีผู้เป็นที่รักของครอบครัวให้ฟังว่า เหตุผลที่สามีอยากมาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพราะอยากพัฒนาหมู่บ้านของเขา และอยากมาดูแลแม่ แม่แก่มากแล้ว จะให้น้องสาวของสามีมาดูแล น้องสาวก็ทำงานอยู่ต่างอำเภอ ทำให้ไม่มีใครดูแลแม่ในช่วงกลางวัน จึงตัดสินใจอาสากลับมาทำงานที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นกุ๊กอยู่ที่ร้านอาหารในมาเลเซีย เพื่อจะได้มาดูแลแม่ ซึ่งตอนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สามีเป็นคนขยันมาก อาสาช่วยเหลือทุกคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าใครเดือดร้อนเรื่องใดก็ตาม ก็จะอาสาเข้าไปช่วยเหลือลูกบ้านโดยทันที สามีเป็นคนมุ่งมั่น เต็มที่กับการทำงาน จึงเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานทุกคน เพราะเป็นคนดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น ทุกคนยังเสียดาย ตอนเกิดเหตุไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นสามีตน ยังถามเลยว่าใช่หรือ

ตั้งแต่สามีตัดสินใจมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทุกวันที่ออกไปทำงาน ตนก็จะเตือนตลอดว่าให้ระมัดระวัง ดูแลตัวเอง เซฟตัวเองให้ดี เพราะอย่างที่รู้ที่เห็นกันตามข่าวต่างๆ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ของรัฐมักโดนยิงบ้าง โดนทำร้ายอยู่บ่อยครั้ง แต่ในวันที่เกิดเหตุ วันนั้นเราแทบจะไม่ได้คุยกันเลย ตอนนี้เขาจากไปแล้ว ตนยังทำใจไม่ได้ ยังรู้สึกเหมือนว่าสามียังอยู่ อยู่ข้างๆ ตนกับลูก ปกติตนเป็นคนแสดงออกทางความความรู้สึกไม่ค่อยเก่ง ที่ผ่านมาไม่เคยพูดคำว่ารักกับสามีเลย หากย้อนเวลากลับไปได้ อยากบอกให้เขารู้ว่าเรารักนะ รักมากๆ รักเขาที่สุด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้บอก ไม่เคยแสดงความรักต่อกัน จนถึงวันที่เขาจากไปไม่มีวันกลับ

ส่วนลูกสาว บอกเลยว่าเข้มแข็งกว่าตนเองมาก แต่รู้ว่าลูกสาวแอบไปร้องไห้ และพยายามไม่ให้ตนเองเห็น ทุกครั้งที่ลูกสาวขึ้นไปบนห้องของป๊าเขา เห็นเสื้อผ้าป๊า ก็จะยืนมองด้วยความรักและคิดถึง เพราะเขารักป๊าของเขามาก หลังจากป๊าของเขาเสีย เขาก็ไปเอาผ้าห่ม ผ้าปูที่นอนของป๊าเขามากอด แล้วก็บอกห้ามตนว่าผ้าปูที่นอนของป๊า มามี๊อย่าซักนะ อย่าซักนะ อาเด๊ะจะเอามานอนมาหนุน มากอด น้องอยากเอามาหอม ทุกคืนตอนนี้ตนทำได้คือนอนกอดกับลูก จับมือให้กำลังใจกัน และบอกกับลูกว่าถึงแม้ป๊าจะไม่อยู่แล้ว แต่ยังมีมามี๊ มามี๊จะเป็นทั้งมามี๊และป๊าให้ลูกเอง

ท่ามกลางความเสียใจของครอบครัว แต่เราก็ยังเรารู้สึกภาคภูมิใจนะที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ที่ได้เสียสละทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติอย่างดีที่สุด จวบจนวินาทีสุดท้าย ยิ่งได้เห็นรูปภาพของสามีในบางมุมที่สื่อได้หยิบเอาไปนำเสนอ เป็นภาพถ่ายตอนเขายิ้ม ทำให้เราได้เห็นรอยยิ้มของเขา มันคือรอยยิ้มของนักสู้ รอยยิ้มของวีรบุรุษ

หากสามีรับรู้ได้ ก็อยากบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงลูก พี่ๆ น้องๆ ญาติทุกคนคอยดูแลให้กำลังใจอย่างดี ส่วนอนาคตของลูกสาว สามีเขาเคยบอกไว้เมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ว่าไม่ต้องการบังคับลูก เขาอยากเรียน อยากเป็นอะไร ก็ตามแต่ที่ลูกต้องการ แต่ป๊าเขาอยากให้เรียนจนจบปริญญาตรี ซึ่งตอนนี้ก็มีหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องการศึกษา เข้ามารับปากว่าจะช่วยเหลือดูแลลูกของเราอย่างดีที่สุด และนับตั้งแต่เกิดเหตุ ทั้งฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯ ปัตตานี แม่ทัพภาคที่ 4 ก็มาเยี่ยมให้กำลังใจไม่ขาดสาย ทำให้ตนรู้สึกเข้มแข็งขึ้น แต่ถามว่า 100 เปอร์เซ็นต์มั้ย ตอบได้เลยว่าไม่ มันไม่รู้จะบรรยายยังไง

นี่เป็นเพียงความรู้สึกส่วนหนึ่งของความสูญเสีย ที่นางศศิธร หะยีเลาะ และครอบครัว ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น