ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผลงานชิ้นเอก อาจารย์ ม.ราชภัฏภูเก็ต เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้ง คิดค้นพัฒนาผ้าเส้นใยใบสับปะรดภูเก็ต พร้อมสอนเทคนิคให้ชาวบ้านในพื้นที่ผลิตเป็นสินค้าสิ่งทอ Eco-Print และผ้ามัดย้อม เพิ่มมูลค่าขายได้ราคาสูง
ถ้าพูดถึงสับปะรดภูเก็ต เชื่อว่าหลายคนรู้จัก ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาภูเก็ตต้องได้กินสับปะรดภูเก็ต และ สับปะรดภูเก็ตถูกปั้นแบรนด์ให้เป็นราชาผลไม้ของภูเก็ตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยรสชาติเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ มีผลทรงกระบอกขนาดใหญ่ เนื้อสีเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีแกนผลที่กรอบมากสามารถรับประทานได้
ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (PKRU) ในบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ให้บริการวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และนวัตกรรมให้ท้องถิ่น ทำงานในคอนเซ็ปต์ “ช่วยเหลือชาวบ้าน” มีผลงานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสับปะรดภูเก็ตอย่างหลากหลาย ทั้งแพกเกจจิ้งของฝาก อาหารแปรรูป สินค้าสุขภาพและความงาม นำเสนอออกสู่ตลาดหลายรายการ (PKRU Marketplace)
แต่สิ่งหนึ่งที่เหลือจากการนำมาใช้ประโยชน์ คือ ในส่วนของใบสับปะรดที่เหลือทิ้งโดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ “ผศ.ภูริณัฐ ปลัดสงคราม หรืออาจารย์บ่าว” จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สาขาวิชานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และนัก Craft วัสดุจากธรรมชาติ จึงเกิดไอเดียในการนำใบสับปะรดมาทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยคิดค้นวิธีการแปรรูปใบสับปะรดภูเก็ต ให้กลายเป็น “ผ้าเส้นใยใบสับปะรดภูเก็ต”
ผศ.ภูริณัฐ กล่าวว่า ตนเองได้พัฒนางานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งตอนนี้เทรนด์สิ่งทอจากธรรมชาติกำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้ทดลองและคิดค้นวิธีการนำใบสับปะรดภูเก็ต นำมาผ่านกรรมวิธีขูดใบและสลัดเส้นใย สู่การปั่นและกรอให้เกิดเป็นเส้นด้าย จนสามารถทอเป็นผืนผ้าได้
ประกอบกับตอนนี้ เกษตรกรภูเก็ตหันมาปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกัน “ใบสับปะรด” จะถูกนำไปเป็นอาหารช้างหรือถูกเผาทำลายก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงมองหาลู่ทางในการคิดค้น “นวัตกรรม” เพื่อสร้างมูลค่า รายได้ให้ชุมชน ซึ่งใบสับปะรดภูเก็ต เมื่อผ่านกรรมวิธีสำเร็จจนเกิดเป็นผ้าทอ สามารถจำหน่ายได้ในตลาดแบบผ้าดิบ หลาละ 450 บาท (ราคาเทียบเท่าผ้าลินิน แต่ต้นทุนน้อยกว่ามาก) และเมื่อนำผ้าดิบจากใบสับปะรดภูเก็ต ไปผลิตเป็นผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม หรือผ้า Eco-Print ราคาจะพุ่งสูงถึงหลาละ 900-1,500 บาท และสูงมากขึ้นอีกหากนำไปออกแบบเป็นชุด หมวก หรือกระเป๋า ด้วยคุณสมบัติของเส้นใยที่มีความแข็งแรงทนทาน ไม่ขาดง่าย ไม่จำเป็นต้องรีด ระบายอากาศเมื่อสวมใส่ และดูดซึมสีได้เป็นอย่างดี
ผศ.ภูริณัฐ กล่าวต่อไป แผนงานที่จะดันงานวิจัย “ผ้าเส้นใยใบสับปะรดภูเก็ต” ให้เกิดเป็นสินค้าออกสู่ตลาด และให้บริการองค์ความรู้แก่ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำได้ในครัวเรือนเมื่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้น PKRU จะเข้าไปบ่มเพาะและเพิ่มมูลค่าต่อตามกระบวนการ สำหรับพื้นที่นำร่องที่ได้นำไปเวิร์กชอบแล้ว คือ “ชุมชนบ้านบางโรง” ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต อีกทั้งตอนนี้ได้มีการเตรียมออกแบบผ้าสูท และออกแบบเป็นสินค้าโดยสไตลิสต์เอาใจแฟชั่นนิสต้าทุกช่วงวัย จัดจำหน่ายในร้านค้าชั้นนำในอนาคต