xs
xsm
sm
md
lg

ชัดแล้วสาเหตุปลาตายเกลื่อนหาดทุ่งวัวแล่น เจ้าหน้าที่เร่งเก็บซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - เร่งเก็บซากปลาตายเกลื่อนหาดทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร หวั่นกระทบแหล่งท่องเที่ยว พบต้นเหตุการตายหมู่แล้ว ระบุเกิดจากการบลูมของแพลงก์ตอนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว


จากสถานการณ์ปลาตายเป็นจำนวนมากบริเวณหาดทุ่งวัวแล่น (หน้ารูปปั้นวัวกระทิง) ต.สะพลี อ.ปะทิว ตั้งแต่เวลา 01.00 น.ของวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดจังหวัดชุมพร ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งชุมพร ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลชุมพรได้ลงพื้นที่และดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุการตาย รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 3 จุด เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ ชนิด และปริมาณแพลงก์ตอน


ที่เกิดเหตุพบปลาปลาตายจำนวนมาก ประกอบด้วย ปลาแป้น สัดส่วนที่พบประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ปลาเห็ดโคน ร้อยละ 5 ปลาสลิดหิน ร้อยละ 1 และปลาตระกูลปลากระเบนร้อยละ 4 นอกนั้นพบสัตว์น้ำประเภทปูม้าและปูทะเลบ้างเล็กน้อย

ผลจากห้องปฏิบัติการพบว่าคุณภาพน้ำในทุกพารามิเตอร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่สัตว์น้ำชายฝั่งจะดำรงชีวิตอยู่ได้ (เวลา 07.10 น.) และพบชนิดแพลงก์ตอนเป็นชนิดไดอะตอมทั้งหมด ในปริมาณความหนาแน่นระหว่าง 2,000-402,000 เซลต่อลิตร ซึ่งค่อนข้างสูงมากกว่าในช่วงเวลาปกติ


จึงสามารถสรุปได้ว่าเกิดการบลูม (bloom) ของแพลงก์ตอนที่รวดเร็วมากด้วยมีสารอาหาร (nutrient) ในขณะนั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นเกิดจากกระบวนการการเปลี่ยนแปลงของชั้นน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้สารอาหารหมุนเวียนขึ้น และทำให้แพลงก์ตอนบูม ด้วยภาวะนี้จะทำให้เกิดการแย่งใช้ออกซิเจนทั้งแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำ เกิดภาวะขาดแคลนออกซิเจน จึงเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก สำหรับผลการวิเคราะห์สารอาหาร ได้บูรณาการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางช่วยดำเนินการเก็บตัวอย่าง และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล


ด้านศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก.) ดำเนินการตรวจสอบกรณีปลาตาย บริเวณหาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ผลการตรวจสอบพบว่า น้ำทะเลมีสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็น ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้น พบว่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ 2.21-3.46 mg/l ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานน้ำทะเล ที่มีค่า 4 mg/l ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก

การตรวจสอบเบื้องต้นด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบแพลงก์ตอนกลุ่มไดอะตอม ชนิด Chaetoceros sp. Coscinodiscus sp. Bacteriastrum sp. ซึ่งแพลงก์ตอนกลุ่มนี้ไม่สร้างสารพิษ แต่เมื่อตายลงทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และเกิดสภาวะขาดออกซิเจน จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ พบว่า ปลาทะเลตายขึ้นมาเกยหาดบริเวณนี้มีเกือบทุกปี ปริมาณมากน้อยต่างกัน โดยปีนี้มีปริมาณค่อนข้างเยอะ ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาตายน้ำแดง” ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน


โดยปลาตายที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปลาแป้น ปลาดอกหมาก และปลาอมไข่ โดย ศวทก. ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารอาหารในห้องปฏิบัติการต่อไป

ด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยประมงจังหวัดชุมพร นายอำเภอปะทิว ผอ.ทสจ.ชุมพร และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะพลี ลงพื้นที่บริเวณชายหาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวได้ จึงระดมส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจิตอาสาในพื้นที่เร่งเก็บปลาที่ขึ้นมาตายบริเวณหน้าหาดให้มากที่สุด ป้องกันการส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อภูมิทัศน์ และได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ใช้เครื่องจักรเครื่องมือเก็บปลาที่ตายอยู่กลางทะเลเมื่อสภาพน้ำอำนวย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียและปลาขึ้นมาเกยหาดอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น