xs
xsm
sm
md
lg

ออกแล้ว! “กระท้อนนาปริก” ลูกใหญ่ยักษ์ ผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นสตูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่บ้านนาปริก ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล ดินแดนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่ง “กระท้อนนาปริกสตูล” ที่มีผลใหญ่ เนื้อหนา นุ่มฟู รสชาติหวานอร่อยเฉพาะตัว บนดินแดนประวัติศาสตร์โบราณ และประตูสู่อุทยานธรณีโลก นับเป็นผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อ ในขณะนี้ที่กำลังให้ผลผลิตระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.2566 โดยราคาปีนี้ยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท หน้าสวนเริ่มทยอยออกผลผลิตมาให้กินกันแล้ว

โดยวันนี้ นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วย นายชาญณรงค์ วิรุณสาร เกษตรจังหวัดสตูล ฝ่ายปกครองอำเภอควนโดน เกษตรอำเภอควนโดน และนายอิบรอเหม เด็นสำดี เกษตรกรเจ้าของสวนกระท้อนบ้านนาปริก และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และวิถีเกษตรชุมชนเขาโต๊ะกรัง นำชมผลผลิต และสวนกระท้อนที่กำลังออกสู่ตลาด จากสวนต้นแบบคุณภาพแห่งนี้ ซึ่งในแต่ละปีใน อ.ควนโดน ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 66 ตัน จาก 46 ไร่ อ.ควนกาหลง 7 ตัน จาก 7 ไร่ และทั้งจังหวัดผลผลิตจากกระท้อนมากถึง 80 ตัน จากพื้นที่ 60 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกแบบผสมผสาน

ด้วยความพิเศษของกระท้อนที่นี่มีผลใหญ่กว่าฝ่ามือ มีผลที่เคยใหญ่สุดเกือบลูกละ 2 กิโลกรัม โดยพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือพันธุ์อีล่า ด้วยผลใหญ่ยักษ์ เปลือกบาง ใช้ช้อนตักกินแบบสบายๆ เนื้อปุยนิ่ม อร่อยกำลังดี อร่อยจนโด่งดัง และมีชื่อเสียงแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ปุยฝาย พันธุ์นิ่มนวล พันธุ์เขียวหวาน และพันธุ์ทับทิม


ขณะที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ได้มีการเพิ่มมูลค่าสินค้ากระท้อน ด้วยการส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างแบรนด์ให้กระท้อนสตูล อีกทั้งการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการกลุ่มองค์กรเกษตร ผู้ผลิตเกิดการเชื่อมโยงการตลาดได้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาสินค้ากระท้อนในพื้นที่ 7 อำเภอ บนพื้นที่ผลิต 60 ไร่ จังหวัดสตูลเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จากลักษณะเด่นผลใหญ่ เนื้อหนานุ่มฟู รสชาติหวาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี และมีการขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน ตามคำขวัญ “แหล่งกระท้อน นุ่มหวาน ดินแดนประวัติศาสตร์โบราณ ประตูอุทยานธรณี”


นายชาญณรงค์ วิรุณสาร เกษตรจังหวัดสตูล กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ยังได้ส่งเสริม และพัฒนานำสินค้ากระท้อนในพื้นที่ 7 อำเภอ พื้นที่ผลิต 60 ไร่ โดยสร้างกิจกรรมอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสินค้าผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 50 ราย การทำแปลงเรียนรู้การผลิตผลไม้อัตลักษณ์ที่ได้มาตรฐาน จำนวน 1 แปลง การพัฒนาสินค้าผลไม้อัตลักษณ์สู่กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลไม้อัตลักษณ์ 5 พัฒนาจุดรวบรวมและจัดชั้นคุณภาพผลไม้อัตลักษณ์ อีกทั้งยังมีแผนขับเคลื่อนส่งเสริมพัฒนาสินค้ากระท้อนคุณภาพที่มีอยู่เดิม และขยายพื้นที่ปลูกใหม่ โดยยกระดับสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว 7 ราย พื้นที่ 13 ไร่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 20 ราย หรือ 20 แปลง และในปี 2565 หลายหน่วยงานได้มีการบูรณการในจังหวัดสตูล และกลุ่มภาคใต้อันดามัน ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย โดยคัดเลือกกระท้อนสู่การขึ้นทะเบียน GI โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ควนโดน และ อ.ควนกาหลง ต่อจากพืชจำปาดะ




กำลังโหลดความคิดเห็น