xs
xsm
sm
md
lg

คุณูปการกิจกรรมขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ คือช่วยปลุก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้เดินถูกทางจริงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
เราเดินมาถูกทางแล้ว

วันนี้ผู้เขียนขอยกประโยคข้างต้นที่ “หน่วยงานความมั่นคง” มักใช้ชี้แจงกับประชาชนเรื่องการแก้ปัญหาไฟใต้ โดยขอถามกลับไปจนถึงระดับ “รัฐบาล” ด้วยว่า ทำไมปล่อยให้สถานการณ์ไฟใต้ “บานปลาย” ได้ถึงเพียงนี้
โดยเฉพาะล่าสุดปล่อยให้มีการชี้นำจาก “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” จัดให้มีการ “ลงประชามติ” เพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้อย่างเป็นข่าวครึกโครม

ถ้า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” จริง ทำไมความรุนแรงในชายแดนใต้จึงไม่ลดลง ที่เห็นชัดๆ เอาแค่ในเดือน มิ.ย.นี้มีเหตุมากมาย ที่ จ.นราธิวาส มีการลอบวางระเบิดพระบิณฑบาตที่ อ.รือเสาะ ลอบวางระเบิดทหารพรานขาขาดที่ อ.เจาะไอร้อง ส่วนที่ จ.ปัตตานี มีการล้อมยิงตำรวจ นปพ.ถึงในป้อมจุดตัดเส้นทางรถไฟที่ตลาดนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ และที่ จ.ยะลา มีการโจมตีตำรวจชุด รปภ.ครูของ สภ.โกตาบารู อ.รามัน บาดเจ็บ 4 นาย แถมมีชาวบ้านถูกลูกหลงด้วย 1 คน

ผู้เขียนเคยเสนอมาตลอดว่า “บีอาร์เอ็น” เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มี “ยุทธศาสตร์หลัก” ในพื้นที่แค่ 2 เรื่องคือ 1.“หล่อเลี้ยงสงครามความขัดแย้ง” ด้วยการโจมตีเจ้าหน้าที่เมื่อ “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” และ 2.“สร้างมวลชนปฏิวัติ” ในเกมเอาชนะรัฐไทย ซึ่งปรากฏให้เห็นผ่านการออกมาเคลื่อนไหวไม่ว่าจากขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ หรือขบวนการภาคประชาสังคมต่างๆ

ในมุมมองผู้เขียนเห็นว่า กิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ที่มุ่งประเด็น “กำหนดอนาคตตนเอง” และ “จำลองการลงประชามติ” เป็นการสร้างคุณูปการต่อมาตรการดับไฟใต้ เพราะหากไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้นเชื่อว่า “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะยังคงไม่รู้สึกรู้สา และยังซุกปัญหาอันตรายไว้ใต้พรมเหมือนเดิม ซึ่งทำแบบนี้มากว่า 19 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) ที่มี พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม นั่งเป็นเลขาธิการอยู่ ทำให้หน่วยงานนี้ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวด้านการเมืองของบีอาร์เอ็น

รวมถึง “รัฐบาลรักษาการ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังสวมหมวก รมว.กลาโหมอีกใบด้วย ทำให้ได้รู้ว่าบีอาร์เอ็นกำลังขับเคลื่อน “มวลชนปฏิวัติ” ได้ก้าวหน้าและมีความเป็นสากลแค่ไหน ซึ่งเวลานี้นอกจากสร้างความแตกแยกในพื้นที่ได้แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียแผ่นดินปลายด้ามขวานในอนาคตด้วย

ความจริงแล้ว แผนมวลชนปฏิวัติของบีอาร์เอ็น โดยขับเคลื่อนผ่านขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ และภาคประชาสังคมต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการจัดตั้งในกลุ่มนักศึกษาแล้วส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นกันมาต่อเนื่อง เมื่อรุ่นเก่าพ้นสภาพนักศึกษาไปทำหน้าที่ผู้นำในภาคประชาสังคม ซึ่งไม่ต่างกับ “แกนนำ” บีอาร์เอ็นที่พออาวุโสก็ขยับขึ้นไปเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและไม่จำกัดเวลา

หันมาดูการแก้ปัญหาของ “ฝ่ายความมั่นคง” ทุกครั้งที่เกิดปัญหา จะออกมาชี้แจงอยู่ใน 2 ประการคือ ต้องแก้ปัญหาด้วยการสร้างความเข้าใจ และต้องใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ซึ่งกรณีการจัดกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติมีการชี้แจงเช่นนี้ ซึ่งต้องถามกลับไปว่า

ประเด็นแรก “สร้างความเข้าใจ” นั้นสร้างอย่าไร สร้างกับใคร และหน่วยงานไหนเป็นผู้สร้าง ซึ่งเรื่องนี้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รู้และเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติมีมานานแล้ว และมีการส่งผ่านแบบรุ่นต่อรุ่น แล้วทำไมถึงไม่ดำเนินการ “สร้างความเข้าใจ” มาตั้งแต่ต้น ทำไมปล่อยให้บานปลายถึงขั้นทำประชามติจำลองเพื่อส่งผ่านความคิดแบ่งแยกดินแดนได้

ถึงวันนี้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะไปทำความเข้าใจกับใครได้อีก ในเมื่อขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ รวมทั้ง “นักการเมือง” และบาง “พรรคการเมือง” ที่เคยปราศรัยสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เขาบอกว่าเขาเข้าใจ เขาไม่ได้ทำผิด เขามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และที่ทำมาเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ในส่วนของวิทยากรที่เป็นนักการเมืองเขาบอกว่า เขาเป็นแค่แขกรับเชิญให้มาแสดงความคิดเห็นเท่านั้น และที่ต้องถามจริงๆ จังๆ ก็คือ หลายต่อหลายครั้งที่ขบวนการนักศึกษากลุ่มดังกล่าวออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เคยเชิญผู้นำองค์กรภาคประชาสังคมไปทำความเข้าใจมาแล้วหลายครั้ง ปรากฏว่าได้ผลอย่างไร และถ้าได้ผลจริงทำไมไม่สามารถ “หยุด” การขับเคลื่อนความคิดแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มคนเหล่านี้

แท้จริงแล้ว “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ไม่ได้สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องมาเลยใช่หรือไม่ แต่ใช้วิธีเมื่อเกิดเรื่องครั้งใดก็ออกมาให้ข่าว หลังปัญหาลดความร้อนแรงและส่วนกลางไม่มีการสั่งการเพิ่มใดๆ ทุกอย่างก็เงียบสงบแบบ “นั่งทับขี้” เอาไว้โดยไม่รู้สึกลื่นๆ อย่างที่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลว่าไว้ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” นอกจากไม่สร้างความเข้าใจกับขบวนการนักศึกษาและภาคประชาสังคมใต้ปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นแล้ว ยังต้องถือว่า “ล้มเหลว” ในการสร้างความเข้าใจต่อ “กำลังพล” ในหน่วยของตนเองด้วย และ “ล้มเหลว” ในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้ “คนในชายแดนใต้” ด้วย

วันนี้คนในพื้นที่จึงไม่เข้าใจถึง “สถานการณ์ที่เป็นจริง” สังเกตให้ดีจะเห็นว่า “กลุ่มคนมุสลิม” ส่วนใหญ่นิ่งเฉยกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วน “คนไทยพุทธ” กลับวิพากษ์วิจารณ์และด่าทอเจ้าหน้าที่รัฐถึงความล้มเหลวในการดับไฟใต้ พร้อมๆ กับกล่าวหาแบบตีขลุมคนมุสลิมในพื้นที่ว่าเป็น “โจรก่อการร้าย” บ้าง หรือไม่ก็เป็น “ต้นเหตุ” ของความไม่สงบบ้าง

ดังนั้น จึงขอฟันธงไว้ตรงนี้ว่า ตลอดเวลากว่า 19 ปี ไฟใต้ระลอกใหม่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทำหน้าที่ได้แบบ “สอบตก” ในประเด็นการสร้างความเข้าใจทั้งกับ “ผู้เห็นต่าง” และกับ “ประชาชน” ในพื้นที่ด้วย

อีกประเด็นนั้น “การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น” ที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช. และ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาค 4 ประสานเสียงกันว่า การกระทำของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ “ผิดกฎหมาย” และอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน นั่นหมายถึงต่อไปต้องมีการจับกุมทุกคนที่เข้าข่ายกระทำผิดนั้น

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ผู้เขียนเห็นด้วยเมื่อมีการ “ทำความเข้าใจ” มาก่อนแล้วไม่ได้ผล นั่นหมายความว่าก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องทำความเข้าใจทั้งกับประชาชน และโดยเฉพาะกับ “กลุ่มคนที่ถูกชักจูง” ให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อน

เพราะหากใช้กฎหมายแบบหลุนๆ มวลชนส่วนหนึ่งอาจจะถูกบีอาร์เอ็นปลุกระดมต่อ โดยให้ออกมาต่อต้านการจับกุมผู้ที่อยู่ในข่ายกระทำความผิดในครั้งนี้ได้ ซึ่งนั่นอาจเป็นชนวนเหตุของความยุ่งเหยิงที่จะติดตามมา และถ้าเป็นเช่นนั้นถือเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ยิ่งบานปลายขึ้นไปอีก

กล่าวสรุปคือ “หน่วยงานความมั่นคง” ที่ประกาศมาต่อเนื่องยาวนานว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” นั้น แท้จริงกลับเป็นการ “เดินเข้าไปยังหลุมพราง” ของฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรจากชาติตะวันตกขุดเอาไว้ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาวางแผนไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินชายแดนใต้ได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น