ทัศนะ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก
ความจริง “เรื่องส่วย” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในขบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงของประเทศไทย โดยเฉพาะ “ส่วยทางหลวง” ซึ่งก่อนที่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” นักการเมืองตัวตึงจากพรรคก้าวไกล จะออกมาเปิดโปงถึงพฤติกรรมของตำรวจทางหลวงที่เกี่ยวกับ “ส่วยสติกเกอร์” เคยมีกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกออกมาเคลื่อนไหวหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับความเดือดร้อนจากส่วยทางหลวง ที่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ในการบรรทุกน้ำหนักเกินมาโดยตลอด แต่การแก้ปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาลไม่เคยแก้ปัญหาได้สะเด็ดน้ำ
เรื่องของส่วยทางหลวง และส่วยสติกเกอร์ สำหรับผู้ที่ประกอบกิจการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเบ่งบานไปทั่วแผ่นดิน จนถูก “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” นำมาเปิดโปงจนมีการเด้งผู้บังคับการตำรวจทางหลวง และให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รักษาราชการแทน และมีการเดินหน้าในการแก้ปัญหาเรื่องส่วยทางหลวงเป็นอันดับแรกๆ ด้วยการโยกย้ายและเอาผิดตำรวจทางหลวงชุดแรกไปแล้ว 40 นาย
“ส่วยสติกเกอร์” เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2520 โดยกลุ่มผู้ขนสินค้าเถื่อนหรือสินค้าหนีภาษีจากชายแดนประเทศมาเลเซีย อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อส่งไปยังจุดหมายปลายทาง ได้ใช้สติกเกอร์ติดหน้ารถเป็นสัญลักษณ์ เพื่อด่านตรวจและโรงพัก รวมทั้งศุลกากรและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามได้เห็น เพื่อที่จะได้รู้ว่าสติกเกอร์แบบนี้เป็นของใคร และได้จ่ายรายการให้แก่เจ้าหน้าที่แล้ว
ในยุคนั้น รถบรรทุกของหนีภาษีหลายร้อยคันวิ่งกันพลุกพล่าน ใช้ความเร็วสูง โดยที่ไม่มีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ เพราะอิทธิพลของส่วยสติกเกอร์ที่ติดอยู่กระจกหน้ารถ ดังนั้นเรื่องของส่วยสติกเกอร์จึงไม่ใช่ความคิดใหม่หรือเป็นเรื่องใหม่ในวงการตำรวจ แต่เป็นเรื่องของ “เชื้อชั่วที่ไม่เคยตาย” จากวงการตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทำไม “เชื้อชั่วจึงไม่เคยตาย” ทำไม “ส่วย” โดยเฉพาะส่วยทางหลวงยังอยู่ยงคงกระพัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรัฐบาล เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเพราะกรมทางหลวง ที่เป็นเป็นผู้แก้ปัญหาต่างแก้ไม่ถูกจุด มีการแก้ที่ “ปลายเหตุ” โดยไม่ได้แก้ที่ “ต้นเหตุ” แห่งปัญหา เป็นการแก้ปัญหาโดยที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง เมื่อข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกัน และไปกันไม่ได้ ปัญหาทั้งหมดจึงยังเป็นปัญหาต่อไป
ข้อเท็จจริงคือ เมื่อ 40 ปีก่อนที่กฎหมายให้รถบรรทุกน้ำหนักได้ 21 ตัน ราคารถบรรทุกคันละ 500,000 บาท กำลังรถ 120 แรงม้า ถนนในประเทศไทยเป็นถนน 2 เลน และถนนลูกรัง ราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้กับรถบรรทุกลิตรละ 4 บาท และประเทศไทยอาจจะมีรถบรรทุกไม่ถึง 50,000 คัน จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไปได้กับข้อกฎหมาย การจ่ายส่วยจึงเป็นเพียง “เครื่องดื่มชูกำลัง” และ “ใบยี่สิบ” ให้เจ้าหน้าที่
วันนี้ รถบรรทุกราคาคันละ 3.5 ล้าน ถนนมีมาตรฐาน เป็นถนน 4 เลน 6 เลน เป็นถนนที่รับน้ำหนักได้ถึง 40 ตัน ถ้าในการก่อสร้างไม่มีการโกงกิน หิน ดิน ทรายเกิดขึ้น กำลังรถบรรทุกมาก 400 แรงม้า น้ำมันดีเซลวันนี้ลิตรละ 32 บาท รถบรรทุกทั้งประเทศ 200,000 คัน แต่กฎหมายบังคับให้รถบรรทุก บรรทุกน้ำหนักได้ 25 ตัน จากของเดิมเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่กฎหมายกำหนดให้บรรทุก 21 ตัน ซึ่งเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายทางหลวงที่ไม่ได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของวิวัฒนาการ ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านนวัตกรรม และการพัฒนาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องถนน ยานยนต์ และราคาสินค้าในปัจจุบัน
ข้อเท็จจริง ณ วันนี้ จึงไม่มีบริษัทไหน หรือผู้รับเหมาที่ไหนที่จะซื้อรถบรรทุกคันละ 3.5 ล้าน เติมน้ำมันลิตรละ 32 บาท กำลังรถ 300-400 แรงม้า เพื่อมาบรรทุกสิ่งของได้เพียง 25 ตัน เพราะนั่นหมายถึงความหายนะของการทำธุรกิจในภาคการขนส่ง และการรับเหมา การสัมปทานงานของรัฐ ในขณะที่ตำรวจกับเจ้าหน้าที่แขวงการทาง และกรมทางหลวง ต่างก็รู้เห็นในการที่รถบรรทุกทุกคันบรรทุกน้ำหนักเกินกว่า 25 ตัน ตามที่กฎหมายกำหนด และนั่นคือที่มาของส่วยทางหลวง เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของกิจการทำผิดกฎหมาย และทดแทนด้วยการจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นค่าตอบแทน
ดังนั้น ปัญหาเรื่องของส่วยทางหลวงจึงไม่ได้มีความซับซ้อนที่ยุ่งยากในการแก้ไขแต่อย่างใด ถ้าต้องการแก้ให้ตรงประเด็น เช่น การออกกฎหมายให้รถบรรทุก บรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน เป็น 30 ตัน โดยไม่ต้องจ่ายส่วย แต่ให้มีการเก็บเงินในการจดทะเบียนรถบรรทุกเพิ่มขึ้น เช่น จาก 3,500 บาทเป็น 7,000 บาท/ปี/คัน ส่วนบริษัทหรือผู้รับเหมาไหนที่ต้องการบรรทุกเกิน 30 ตัน เป็น 35 ตัน ก็ไปขออนุญาตจากกรมทางหลวง หรือแขวงการทาง โดยการจ่ายค่าใบอนุญาต เพื่อที่จะได้นำเงินรายได้ในส่วนนี้ไปใช้ในการดูแลถนนที่อาจจะต้องมีการซ่อมแซม ถ้าทำได้เช่นนี้ ส่วยทางหลวงจะหมดไปจากประเทศ และรัฐบาลยังได้เงินภาษีเพิ่มในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
การบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเพียงข้ออ้างของเจ้าหน้าที่เพื่อต้องการส่วยจากผู้ประกอบการเท่านั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงคือ ณ วันนี้ รถบรรทุกทุกคันต่างบรรทุกน้ำหนักเกิน และจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่ ถ้าการบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเหตุให้ถนนพัง ป่านนี้ถนนทุกสายในประเทศคงพังหมดแล้ว เพราะน้ำหนักที่เกินมาของการบรรทุก ที่วิ่งกันทุกๆ วันๆ ละเป็นแสนๆ เที่ยว
สาเหตุของถนนพังไม่ใช่เพราะรถบรรทุก บรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะข้อเท็จจริง น้ำหนักบรรทุกเกินทุกคัน แต่สาเหตุที่ถนนพังเป็นเพราะ ณ วันนี้ มีการสร้างที่ผิดสเปก มีการ “กินดิน กินหิน กินทราย” เป็นการสมประโยชน์ระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เพราะถ้าการก่อสร้างได้มาตรฐาน ไม่มีการโกงกิน ถนนไม่เสียหาย สะพานไม่ทรุดตัว ยกตัวอย่าง ถนนสายลพบุรีราเมศวร์ระหว่าง อ.หาดใหญ่-อ.เมือง จ.สงขลา สร้างมากว่า 10 ปี มีรถบรรทุกวิ่งกันโครมๆ แต่ถนนก็ไม่ได้ชำรุด เสียหาย และยังมีตัวอย่างถนนอีกหลายเส้นทางที่สร้างมากว่า 25 ปีแต่ยังคงสภาพดี ทั้งที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินวิ่งอยู่ทุกวันทุกคืน
ดังนั้น การที่ตำรวจไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มน้ำหนักบรรทุกให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง แต่ยอมให้รถบรรทุกทำการบรรทุกน้ำหนักเกิน และไม่จับกุม เพราะต้องการผลประโยชน์จากผู้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นเพราะรักษากฎหมายและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะหากมีการแก้กฎหมายให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงจะไม่มีการจ่ายส่วยเกิดขึ้น
และในส่วนของกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ออกแบบการก่อสร้างถนนก็ต้องตามให้ทันการวิวัฒนการของโลกที่ต้องออกแบบถนนให้สอดคล้องกับสภาพของการขนส่ง ของยวดยานที่ถูกออกแบบมาให้ทันสมัย ให้วิ่งเร็ว ให้บรรทุกน้ำหนักมากขึ้น เพื่อให้เจ้าของกิจการมีกำไรในกิจการของเขา เพราะถ้าเขามีกำไร ประเทศจะได้กำไร และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
และสุดท้าย ถ้าการแก้ปัญหาเรื่องส่วยทางหลวง หากยังมุ่งที่จะแก้ที่ผู้ปฏิบัติ คือ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้รับส่วย แทนการแก้ที่ข้อกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ต่อให้มีการย้ายตำรวจอีก 100 นาย หรือ 1,000 นายทั่วประเทศ ก็แก้เรื่องส่วยทางหลวงไม่สำเร็จ และเมื่อไม่มีการจ่ายส่วย ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยการเข้มงวดกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่สุดท้ายจะเป็นกิจการของรถบรรทุก และผู้รับเหมาที่ขาดทุน และหยุดกิจการ หรือต้องวิ่งเต้น เพื่อจ่ายส่วยในรูปแบบอื่นๆ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องของปัญหาส่วยทางหลวงแต่อย่างใด