ชุมพร -ไม่รอด! เจ้าหน้าที่สนธิกำลังตรวจสอบนายทุนเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้ง จ้างรถแบ็กโฮขุดชายหาดวางท่อสูบน้ำ พบทำลายปะการัง โขดหินธรรมชาติเสียหายยับ อ้างขออนุญาต สุดท้ายทำผิดกฎหมายเพียบ บ่อบำบัดไม่มี ทิ้งน้ำเสียลงทะเล
วันนี้ (12 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย นางสายสุดใจ ชุนเชาวฤทธ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร นายจิรยุทธ์ รันตดิลก ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 (ปะทิว ชุมพร) นายประทิน ออมสิน รักษาการ ผอ.เจ้าท่าภูมิภาค สาขาชุมพร ร.อ.กอบศักดิ์ นาคหาญ หัวหน้า ชรต.403 กอ.รมน.ชุมพร ร.ต.ท.ประทิน สวณะทรงธรรม รอง สว.(ป) กก.5 บก.ปทส. ลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ว่า บริเวณริมชายทะเลซึ่งมีนากุ้งในหมู่ที่ 8 ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ว่า มีการใช้รถแบ็กโฮขุดชายหาดเพื่อท่อสูบน้ำริมชายทะเล ลักษณะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดและโขดหิน ที่มีน้ำทะเลท่วมถึง เป็นแนวร่องยาวดังรูปที่ปรากฏจากผู้ร้องเรียน และสื่อต่างๆ
จากการตรวจสอบ พบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่บริเวณชายหาดอ่าวบางสน ซึ่งป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อขออำเภอปะทิว และเป็นแหล่งอยู่อาศัยของกุ้งเคยที่ใช้ทำกะปิขึ้นชื่อของ จ.ชุมพร ซึ่งจะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดงานกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี พบร่องรอยการใช้รถแบ็กโฮขุดบริเวณชายหาด แต่มีการถมกลบจนหมดแล้ว แต่ยังมีเศษหิน ปะการังเสียหายให้เห็นอยู่บ้าง
ต่อมา นายสุพงษ์ แพรสมบูรณ์ ที่อยู่ 180 ถนนศาลาแดง ต.ท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร ได้มาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ โดยแจ้งว่าบ่อกุ้ง และโรงสูบน้ำบริเวณนี้เป็นของตน ได้มีการขออนุญาตสูบน้ำทะเล โดยมีการวางท่อสูบน้ำทะเล ซี่งได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำจากกรมเจ้าท่า ตามใบอนุญาต เล่มที่ 193 เลขที่ 024 ใบอนุญาตเลขที่ 1105/2561 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ซึ่งตนได้ดำเนินการซ่อมแซมเปลี่ยนท่อดูดน้ำทะเลเข้านากุ้ง เนื่องจากของเดิมชำรุด เป็นระยะทาง 120 เมตร
แต่ผลการตรวจสอบปรากฏว่าพบร่องรอยขุดรื้อโขดหินในทะเลโผล่พ้นน้ำ มีการเคลื่อนย้ายโขดหินจากในทะเลมากองรวมโผล่พันน้ำเป็นจุดๆ ดังนี้ 1.พบร่องรอยการขุดดินจากเครื่องดูดน้ำทะเล ถึงจุดปลายท่อที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยแนวที่ขุดมี 4-5 จุด และบริเวณชายหาดมีสภาพขนย้ายทรายขึ้นมาไว้บริเวณชายฝั่งทำให้มองเห็นพื้นหินชั้นล่างขุดลึก ประมาณ 150 เซนติเมตร สภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหาดทรายธรรมชาติ (เดิม) เป็นเนื้อที่ 800 ตารางเมตร
2.พบร่องระบายน้ำ ซึ่งระบายน้ำจากบ่อเลี้ยงกุ้ง จำนวน 4 บ่อ จากทั้งหมด 6 บ่อ ลงสู่ทะเล โดยมีการระบายน้ำออกจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำออกสู่พื้นที่สาธารณะ 2 จุด จุดที่ 2 ออกสู่ลำรางสาธารณะบริเวณด้านขวามือของสถานประกอบการเมื่อหันหน้าออกสู่ทะเล โดยพบน้ำที่ระบายออกมีสีเขียวเข้มผิดปกติ ซึ่งลำรางดังกล่าวจะไหลออกสู่ทะเลในระยะ 50 เมตร และจุดที่ 2 ด้านหน้าสถานประกอบการติดกับชายหาด โดยมีน้ำระบายจากท่อลงสู่ทะเลโดยตรง
จากหนังสือรับรองการแจ้งประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุมประเภทเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เลขที่ 6386035300020 สถานประกอบการมีพื้นที่รวม 34.1 ไร่ ซึ่งเข้าข่ายแหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำ ตามมาตรา 69 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งต้องมีการควบคุมการปล่อยน้ำเสียหรือของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าวมีหน้าที่ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียตามมาตรา 70 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบไม่พบว่าสถานประกอบการมีระบบบำบัดน้ำเสียที่จะบำบัดน้ำเสียให้มีผลคุณภาพน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานก่อนระบายออกสู่สาธารณะแต่อย่างใด
3.จากการตรวจสอบแผนที่สังเขปแสดงตำแหน่งที่ตั้งอาคารหรือการปลูกสร้างส่วงล้ำลำแม่น้ำ แนบท้ายกฎว่า มีความยาว 12 เมตร กว้าง 2 เมตร พื้นที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำ 24 ตารางเมตร ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง 120 เมตร เจ้าหน้ามีความเห็นร่วมกันว่า เห็นควรให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
4.ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ ข้อที่ (9) การซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร และจะต้องได้รับอนุญาตก่อนดำเนินการซ่อมแซม จากการสอบถามปรากฏว่า นายสุพงษ์ แพรสมบูรณ์ ไม่ได้ยื่นเรื่องก่อนดำเนินการซ่อมแซมต่อสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร เจ้าหน้าที่มีความเห็นร่วมกันว่า เห็นควรให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาชุมพร ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป