ชุมพร - วิกฤติภัยแล้ง! ทำชาวสวนทุเรียนน้ำตาไหล ผลผลิตชุมพรลดลงกว่า 17% จากเกือบ 5 แสนตัน เหลือแค่กว่า 3 แสนตัน ชาวสวนเดือดร้อนหลังรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า
สำหรับจังหวัดชุมพร ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้เมื่อต้องเผชิญกับภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ขาดน้ำ ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวสวน โดยเฉพาะชาวสวนทุเรียน ที่ได้รับผลกระทบหนักมาก ทั้งในส่วนของต้นทุเรียนที่ปลูกไว้ใกล้จะผลิดอกออกผล ต้องยืนต้นตายจากการขาดน้ำ ไม่ต่างจากต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว ดอกหลุดร่วง จากอากาศร้อน ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ในสวนทุเรียนไม่เพียงพอ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ดอกร่วงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณทุเรียนที่ออกสู่ตลาดในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้วอย่างแน่นอน
นางพจณีย์ ริยาพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผยถึงวิกฤตภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด ในพื้นที่ของจังหวัดชุมพร ว่า ผลผลิตในฤดูกาลปี 2566 ได้มีการประเมินสถานการณ์ผลผลิตของทุเรียน และมังคุด ซึ่งกำหนดจัดขึ้นจำนวน 3 ครั้ง ตลอดฤดูกาลผลิต โดยในครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 และครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม
จังหวัดชุมพรในปี 2566 พบว่า มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 279,254 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 260,768 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.09 สำหรับมังคุด ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูก 47,276 ไร่ ลดลงจากปี 2565 จำนวน 49,266 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.04 "
จากการประเมินสถานการณ์ครั้งแรกในระยะดอก พบว่า ผลผลิตของทุเรียน และมังคุด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากปี 2565 มีปริมาณฝนตกชุก ทำให้ดอกหลุดร่วง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2566 สภาพต้นมีความสมบูรณ์ มีการสะสมอาหารเพียงพอ สภาพอากาศมีความเหมาะสม จึงทำให้มีปริมาณการออกดอกมาก
แต่ผ่านมาเพียงไม่นาน สถานการณ์กลับพลิกผัน โดยเฉพาะดอกทุเรียนที่กำลังเบ่งบาน และผ่านระยะการพัฒนามาสู่ช่วงระยะหางแย้ โดยปกติจะมีการหลุดร่วงไม่เกินร้อยละ 10 แต่สำหรับปีนี้ไม่เป็นอย่างเช่นทุกปีที่ผ่านมา เพราะช่วงเดือนมีนาคม ทุเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.18 อยู่ในระยะหางแย้ รองลงมาอยู่ในระยะผลเล็ก ร้อยละ 17.76
เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนเมษายน ซึ่งมีสภาพอากาศร้อน ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ในสวนทุเรียนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทุเรียนหลุดร่วง จากเดือนมีนาคมที่ได้มีการประเมินสถานการณ์ว่าจะมีผลผลิต 408,491 ตัน แต่เมื่อผ่านช่วงวิกฤตฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศร้อน ในหลายพื้นที่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ต้องหาน้ำจากแหล่งอื่นมารดต้นทุเรียน ผลทุเรียนบางส่วนยังหลุดร่วง ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ร้อยละ 17.52 เหลือ 337,376 ตัน ซึ่งทุเรียนจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม มีปริมาณมากที่สุดในช่วงวันที่ 21-30 มิถุนายน 2566 ปริมาณ 73,453 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21.78
ขณะที่ในส่วนของมังคุด ในช่วงเดือนมีนาคม ส่วนใหญ่ร้อยละ 35 อยู่ในระยะติดผลอ่อน และรองลงมาคือระยะดอกบาน ร้อยละ 24.71 จากสถานการณ์เมื่อเดือนมีนาคมว่าจะมีผลผลิต 59,887 ตัน ถึงแม้ว่าในช่วงเดือนเมษายน สภาพอากาศเหมาะสมแก่การออกดอกของมังคุด แต่ทำให้ผลมีขนาดเล็กลง ประกอบกับฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลมังคุดบางส่วนหลุดร่วง ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตลดลงร้อยละ 10.38 เหลือ 53,670 ตัน โดยมังคุดจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณมากที่สุดในช่วงวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2566 ปริมาณ 17,223 ตัน คิดเป็นร้อยละ 32.09
นางพจณีย์ กล่าวต่อว่า จากสภาพอากาศในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้การปรับตัวไปพร้อมๆ กับทุเรียนและมังคุด ซึ่งในตอนนี้เกษตรกรกำลังเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันนี้ในฤดูกาลหน้า เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ถึงแม้ว่าชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพรในหลายพื้นที่จะสามารถผ่านวิกฤตมาได้แบบมีน้ำตา แต่เชื่อแน่ว่าเกษตรกรชาวชุมพรยังคงมีใจสู้ ร่วมกันเรียนรู้ และพัฒนาเพื่อให้ราชาและราชินีผลไม้ยังคงคุณภาพให้เป็นที่คิดถึง เป็นหนึ่งในผลไม้ภาคใต้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวสวนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัง รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ บางรายไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ขณะที่ในภาพรวมเชื่อว่าผลผลิตในปีนี้จะลดลงไม่น้อยกว่า 17% จากจำนวนที่สามารถขายได้ในปีที่ผ่านมาที่มีมากถึงกว่า 5 แสนตัน