xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “ไฟใต้” เปลี่ยนผ่านจากการใช้อาวุธมาเป็น “พลังทางสังคม” ฝ่ายความมั่นคงต้องเร่งรับมือกับ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

มีข้อสังเกตที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ก่อให้เกิดการก่อการร้ายที่สร้างความรุนแรงในภาคใต้ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ “การก่อการร้ายลดความถี่ลง” โดยล่าสุดคือการวางระเบิดแสวงเครื่องรถตู้ที่ทหารพรานชุด รปภ.พระขับนำพระสงฆ์ 3 รูป ของวัดไพโรจน์ประชาราม ที่ตั้งอยู่ใน ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อไปบิณฑบาต ทำให้ทหารพรานที่ทำหน้าที่ รปภ.พระ 2 นาย และพระสงฆ์ 3 รูป ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเรียกว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อ “เลี้ยงกระแส” ให้สังคมได้รับรู้ว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความรุนแรง มีการใช้อาวุธ ใช้ ระเบิด มีคนตาย มีคนเจ็บ มีหญิงหม้าย มีเด็กกำพร้าเกิดขึ้น ยังมีสถานการณ์ของความ “ขัดแย้ง” ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

มีการตรวจค้น มีการจับกุม มีการ “วิสามัญฆาตกรรม” ฝ่ายตรงข้าม และพยายามสร้างข่าวการอุ้มหายและซ้อมทรมาน เพื่อสร้างกระแสและแรงกระเพื่อมจากเอ็นจีโอ จากหน่วยงานสิทธิมนุษยชน และจากภาคประชาสังคมที่เป็นปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการหนุนเสริมให้สังคมเห็นว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความรุนแรง และมีประชาชนที่ยังกลายเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่รัฐ

ซึ่งไปตรงกับการที่หน่วยงานความมั่นคงยังประกาศให้การใช้ “กฎหมายพิเศษ” ในการควบคุมพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกๆ สามเดือน ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สงบหรือลดความรุนแรงลง

ในขณะเดียวกัน จะเห็นว่าแม้ความถี่ของการเกิดเหตุจะน้อยลง และเหตุการณ์ใหญ่ๆ เช่น คาร์บอมบ์ จักรยานยนต์บอมบ์ รวมทั้งการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง การวางเพลิงต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือนจะลดน้อยลง แต่การเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่จาก “องค์กรต่างประเทศ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมากขึ้น และแต่ละองค์กรมีแผนในการเข้ามาตั้งสำนักงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปฏิบัติภารกิจขององค์กร ทั้งที่ไม่ได้รับเชิญจากหน่วยงานของไทย

ถ้าสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นจริง ตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารายงาน ทำไม่หน่วยงานจากต่างชาติจึงยังเคลื่อนไหวและต้องการมีบทบาทกับการยุ่งเหยิงกับการ “ดับไฟใต้” ซึ่งไม่สอดคล้องกับการที่ชาติตะวันตกเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ถามว่าชาติตะวันตกเห็นอะไรที่ต่างจากการเห็นของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

ตัวอย่างแรกคือ เจ้าหน้าที่กาชาดระหว่างประเทศ หรือไอซีอาร์ซี ที่ดื้อด้านที่สุด “ขับไม่ไป ไล่ไม่พ้น” ย้ายฐานปฏิบัติการจาก “ปัตตานี” มาตั้งฐานปฏิบัติการใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เป็นพื้นที่นอก 3 จังหวัดชายแดนและ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อที่จะได้ตะแบงว่า ไม่ได้มีฐานปฏิบัติการในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา

มีการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าจาก “ฝรั่ง” ที่คุ้นชินกับวัฒนธรรมตะวันตก มาเป็น “คนเอเชียเชื้อสายจีน” ซึ่งจะเข้าใจในวัฒนธรรมของคนเอเชีย และเลือกที่จะใช้สุภาพสตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานมีความสะดวก และได้รับความเกรงใจจากหน่วยงานของรัฐ และอาศัยคำว่า “กาชาด” ในการเข้าหลังบ้านของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการแสวงหาช่องทางของการเข้าถึงกลุ่มมวลชน และข้อมูลที่ “ไอซีอาร์ซี” ต้องการ

สำหรับความเคลื่อนไหวของ “เจนีวาคอลล์” ซึ่งเป็นเอ็นจีโอระดับสากลนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงให้มาก เพราะ ณ วันนี้เป็นที่รับรู้ ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่า ผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องหลังแผนการเจรจาสันติภาพของ “บีอาร์เอ็น” ผู้ที่กำกับกระบวนการสันติภาพ คือ “เจนีวาคอลล์” ที่มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับ “ไอซีอาร์ซี”

นอกจากนั้น หน่วยงานจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายวัฒนธรรม จะผลัดเปลี่ยนกันเดินสายลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยึดเอา “ปัตตานี” เป็นด้านหลัก เช่นเดียวกับ “สหภาพยุโรป” ที่มีการส่งทูตานุทูตเข้าพบปะ หารือกับหน่วยงานรัฐ กับภาคประชาสังคม กลุ่มสมาคมสตรี กลุ่มแม่บ้าน เพื่อเสนอโครงการพัฒนาในด้านต่างๆ ประหนึ่งว่า ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนมิคสัญญีที่อยู่ในสงคราม หรือเพิ่งผ่านพ้นภาวะสงครามที่ต้องมีการฟื้นฟูทุกสิ่งทุกอย่าง

ล่าสุด คณะทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดใหญ่ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. และเดินทางกลับเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีการนัดพบกับภาคประชาสังคมและกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เจ้าหน้าที่ทูตเข้าพูดคุยหรือหารือเป็นบุคคล หรือภาคประชาสังคมที่หน่วยงานความมั่นคงติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ที่ยึดโยงอยู่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” หรือกลุ่มผู้สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน หรือการปกครองตนเอง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศจากสถานทูตตะวันตกอีกหลายประเทศที่เดินทางลงพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นระยะๆ และหมุดหมายคือการพบกับภาคประชาสังคม และบุคคลที่อยู่ในฝ่ายปีกทางการเมืองของบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น

คณะของประเทศตะวันตกไม่เคยขอพบหรือพูดคุย หรือหารือถึงปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้กับองค์กรของไทยพุทธ แบบที่ไม่รับฟังและไม่สนใจ เหมือนกับว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเพียงผู้ทิ่เป็นมุสลิมเท่านั้น และประหนึ่งว่าห่วงใยในสวัสดิภาพ สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ความยุติธรรม ของคนมุสลิม ทั้งที่คนไทยพุทธคือผู้ที่ถูกกระทำจากกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็น จนชุมชนไทยพุทธกลายเป็นชุมชนร้าง คนไทยพุทธส่วนหนึ่งพลัดที่นาคาที่ไร่ เพราะสถานการณ์ของ “ไฟใต้” มากกว่าคนมุสลิม ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็อยู่ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย

และจากการสังเกต พบว่า หลังจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และมีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดย “พรรคก้าวไกล” ยิ่งพบว่า ทูตก็ดี ตัวแทนของสถานทูตก็ดี อีกหลายประเทศจะเคลื่อนทัพเข้ามาเกาะติดกับปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างผิดสังเกต เหมือนกับแต่ละประเทศจะรู้ว่า สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังมีการเปลี่ยนรัฐบาล จะมีสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นกับขบวนการดับไฟใต้ และประเทศเหล่านั้นได้เข้ามาเตรียมการ เพื่อการมีส่วนร่วมแบบไม่ยอมตกขบวนรถไฟ

ในขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมและขบวนการคนรุ่นใหม่ รวมทั้งขบวนการนักศึกษาใน “ปัตตานี” มีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ เช่น จะมีการเปิดตัว “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” จะมีการอภิปรายในหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี” การทำประชามติจำลอง จะมีการเสวนาโดยนักเคลื่อนไหวและนักการเมือง การแถลงการณ์ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และต้องติดตาม เพราะเป็นความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับบริบทของเหล่าตัวแทนจากชาติตะวันตกที่เข้ามาปฏิบัติการร่วมกับภาคประชาสังคม ที่มีความต่อเนื่องกันมาหลายปี

วันนี้ สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เปลี่ยนผ่านจากการใช้กำลังอาวุธมาเป็นการใช้ “พลังทางสังคม” เป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีตัวแทนของประเทศตะวันตก ที่เคยเป็น “เจ้าอาณานิคม” เข้ามามีส่วนกับสถานการณ์ของ “ไฟใต้” ที่ยังเห็นไม่ชัดเจนว่า จะมีช่วยกระพือไฟ หรือมาช่วยกันดับไฟ แต่สิ่งที่ชัดเจนและเชื่อมั่นได้คือ ทุกประเทศที่เข้ามาขับเคลื่อนกับกลุ่มมวลชนในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนต้องมีผลประโยชน์ที่ต้องการ

ทั้งหมดคือ ความเปลี่ยนแปลงของ “ไฟใต้” ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่หน่วยงานความมั่นคงของประเทศอาจจะตามไม่ทัน และถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว

ยุบ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศอ.บต.) ยุบ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยกเลิกกฎหมายพิเศษ พาทหารกลับบ้าน แล้วมีการถามคนไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วยังว่า เขามีความเห็นอย่างไรและต้องการอย่างนั้นหรือไม่

ถามว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ได้สำเหนียกถึงอันตรายของ “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” ที่อาจจะพัดพาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในอีกทิศทางหนึ่ง ที่อาจจะสร้างความสูญเสียและเป็นหายนะแก่ประเทศชาติในเวลาอันใกล้นี้

ถ้าสำเหนียกได้แล้ว หน่วยงานเหล่านี้จะคิดอ่านอย่างไรในการต่อต้าน “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” จะสร้างกำแพงหรือกังหันลมก็ต้องเร่งทำ ก่อนที่ทุกอย่างจะเข้าทางของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องการ


กำลังโหลดความคิดเห็น