xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกระบาดหนักในชุมพร พบผู้ป่วยกว่า 300 ราย สูงอันดับ 3 ของภาคใต้ สสจ.เปิดศูนย์รับมือแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - สจ.ชุมพร เปิดศูนย์รับมือโรคระบาดไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยแล้ว 305 ราย สูงกว่าปีที่แล้ว 4 เท่า ติดอันดับ 3 ของภาคใต้

นายแพทย์อนุ ทองแดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดชุมพร ว่า จากข้อมูลงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 พฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วยจำนวน 305 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนระดับประถมศึกษา โดย 3 อันดับแรกคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมา 5-9 ปี และ 15-24 ปีตามลำดับ อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดันแรกคือ อ.เมืองชุมพร รองลงมา อ.ท่าแซะ และ อ.ทุ่งตะโก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยปี 2566 กับปี 2665 ในช่วงเวลาเดียวกันพบว่าสูงกว่า 4 เท่า อำเภอที่เป็นพื้นที่ระบาดคือ เมืองชุมพร ทุ่งตะโก ท่าแซะ และสวี ข้อมูลปัจจุบันจังหวัดชุมพรอยู่อันดับที่ 11 ของประเทศ อันดับที่ 3 ของเขต 11 ภาคใต้

“คาดว่าโรคไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรงในปีนี้ แนวโน้มการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา และจำนวนผู้ป่วยในระดับประเทศสูงเกินกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง โดยพบจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันถึง 3 เท่า และยังพบการระบาดขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้เกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเคลื่อนย้ายของประชากรสูงจึงทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พบผู้ป่วยเสียชีวิตต่อเนื่อง โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดส่วนใหญ่ไปรักษาที่โรงพยาบาลช้า มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน และติดสุรา” นพ.อนุ กล่าว


นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร กล่าวต่อว่า มาตรการเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกเนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและจะระบาดรุนแรงในฤดูฝนนี้ โดยกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าจะพบผู้ป่วยทั่วประเทศมากกว่า 10,000 รายต่อเดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคมนี้ จึงขอความร่วมมือทุกจังหวัดเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์อนุ กล่าวถึงด้านการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข มาตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 มีการประชุมศูนย์ฯ ทุกสัปดาห์ โดยทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) วิเคราะห์สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ร่วมกับข้อมูลสำรวจลูกน้ำยุงลาย ชี้เป้าตำบลที่มีรายงานผู้ป่วยเกินกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีการระบาดต่อเนื่องเกินกว่า 28 วัน เป็นรายสัปดาห์ เพื่อเร่งรัดติดตามมาตรการควบคุมโรค


นอกจากนั้น มีการมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกไปยังนายอำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกสัปดาห์ เพื่อขอรับการสนับสนุนเร่งรัดมาตรการควบคุมโรคจากท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงให้ อสม.ในพื้นที่เพิ่มความเข้มข้นในการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ให้ครอบคลุมทุกสถานที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาล วัด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก

ในด้านการป้องกันการควบคุมโรคนั้นได้มีการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค 3-3-1 ประกอบด้วย หลังจากโรงพยาบาลพบผู้ป่วยให้รายงานโรคภายใน 3 ชั่วโมง และให้หน่วยควบคุมโรคกำชับให้ อสม. ลงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่บ้านชุมชนผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือเอสอาร์อาร์ทีลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น