xs
xsm
sm
md
lg

ส่งเสริมปลูก “ส้มจุกจะนะ” ผลไม้พันธุ์พื้นเมือง สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ “ส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง” ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะ ไม่ให้สูญพันธุ์ จัดประกวดส้มจุกจะนะ เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกส้มจุกจะนะเพิ่มมากขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ขณะนี้พื้นที่ปลูกมีเพียง 200 ไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นสวนผสมผสานที่ปลูกร่วมกับพืชไม้ผลอื่นๆ

สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จัดประกวดผลผลิตทางการเกษตร ในงานประจำปีของดีเมืองจะนะ ปี 2566 ณ ลานอเนกประสงค์หน้าสถานีรถไฟจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีทั้งมะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า ฟักทอง แตงโมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ข้าวโพดหวาน และส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง รวมถึงพืชผักสวนครัวในภาชนะ

โดยเฉพาะการประกวดส้มจุกพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูส้มสายพันธุ์นี้ให้กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง เนื่องจากในปัจจุบันนี้ พื้นที่ อ.จะนะ มีเกษตรกรปลูกส้มจุกประมาณ 90 ราย ในพื้นที่ 200 ไร่ และทางสำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ ได้เร่งดำเนินการฟื้นฟูและอนุรักษ์ ตามโครงการฟื้นฟูพืชอัตลักษณ์ของอำเภอจะนะ


สำหรับผลผลิตส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองจะนะ ผลมาตรฐาน 4 ผลต่อ 1 กิโลกรัม กก.ละ 200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่พ่อค้ามารับซื้อจากสวน เนื่องจากส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองต้องใช้ระยะเวลา 8 เดือน หลังออกดอกจนส้มสุกเต็มที่ ให้รสชาติหวาน อร่อย ความหอมของกลิ่น และเก็บขายตกราคาผลละ 50 บาท

ในการประกวดส้มจุกพันธุ์พื้นเมืองจะนะ มีเกษตรกรส่งส้มจุกเข้าร่วมประกวด 29 ราย เนื่องจากในช่วงนี้ส้มจุกยังไม่สุก และยังไม่ถึงเวลาเก็บผลผลิต โดยต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

นางอัจฉรา ทองประดับ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอจะนะ กล่าวว่า สำหรับ “ส้มจุก” ซึ่งเป็นไม้ผลอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา และอำเภอจะนะ ปีนี้เราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพืช GI หรือเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ชื่อคือ “ส้มจุกจะนะ” และจะส่งเสริมให้เกษตรกรขอรับสัญลักษณ์ GI เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายไม่น้อยกว่า 50 ราย

ในปีที่แล้วมีเกษตรกรที่ได้รับเครื่องหมาย GI และนำไปใช้แล้ว 10 ราย ในปีนี้เราจะส่งเสริมให้เกษตรกรมาขอรับมาตรฐาน GI เพื่อนำไปใช้เพิ่มมูลค่าของส้มจุกให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมพื้นที่ปลูกให้เพิ่มมากขึ้น มีการถ่ายทอดความรู้ในการดูแลรักษาส้มจุก ผ่านกระบวนการของการส่งเสริมการเกษตรในระบบแปลงใหญ่ เพราะว่าอำเภอจะนะ มีแปลงใหญ่ส้มจุกอยู่แล้ว โดยมีสมาชิกหลักๆ อยู่ 30 ราย ในปีนี้จะขยายผลให้เพิ่มมากขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น