xs
xsm
sm
md
lg

รอรัฐบาลใหม่ผสมโรงบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน สร้าง “สุญญากาศ” บนแผ่นดินไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุร้ายที่เกิดจากฝีมือกองกำลังติดอาวุธ “บีอาร์เอ็น” หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปฏิบัติการหลักอยู่ในเวลานี้ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ยิงแพทย์ประจำตำบลท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และยิงอาสาสมัครที่ อ.ธารโต จ.ยะลา รวมเสียชีวิต 2 ศพ

นอกจากนั้น มีการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงใน จ.ปัตตานี แต่ระเบิดไม่ทำงาน อีกทั้งมีการขว้างไปป์บอมบ์ที่ จ.นราธิวาส แต่ก็ไม่ระเบิด แล้วเมื่อเจ้าหน้าที่อีโอดีเข้าทำการตรวจสอบพบว่า เป็นไปป์บอมบ์ที่ถูกพัฒนาให้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคยยึดได้

ที่สำคัญมีเหตุการณ์ที่แปลกใหม่คือ พบ “โดรนลึกลับ” บินสำรวจเป้าหมายบริเวณ สภ.จะแนะ จ.นราธิวาส ตำรวจไล่ยิงก่อนบินหนีหายไป

นั่นหมายถึงบีอาร์เอ็นนอกจากไม่หยุดการก่อเหตุร้ายแล้ว ยังมีความพยายามพัฒนาทั้งเครื่องมือก่อวินาศกรรม และยุทธวิธีโจมตีเป้าหมาย โดยนำ “โดรน” ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ด้วยแล้ว

นั่นคือปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายบีอาร์เอ็นเพื่อ “หล่อเลี้ยงสถานการณ์” ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยเฉพาะเพื่อให้เข้าใจว่าชายแดนใต้ยังมี “ความขัดแย้ง” และยังเกิด “ความรุนแรง” ต่อเนื่อง

เรื่องนี้มีสิ่งที่ยืนยันได้คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับองค์กรต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น “เจนีวาคอลล์” หรือ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” รวมถึงตัวแทนจากชาติตะวันตกได้ “จดบันทึก” ไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่าง “รัฐไทย” กับ “บีอาร์เอ็น” แล้ว

ส่วนประเด็นในประเทศที่ต้องจับตาคือ การที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำสั่งให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายปี 2565 หรือมักเรียกกันว่า “พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน” หรือ “พ.ร.บ.อุ้มหาย” หลังรัฐบาลเดินเรื่องให้ชะลอการบังคับใช้ โดยอ้างความไม่พร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกรณี พ.ร.บ.ซ้อมทรมานต้องถือว่า “เป็นคุณ” ต่อประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหากถูกจับกุมและและตกเป็นผู้ต้องหา โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีการบันทึกภาพไว้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ช่วงเข้าจับกุม และระหว่างการสอบสวน รวมถึงจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

เป็นที่น่ายินดีว่านับแต่นี้ไปประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกับ “คนชายแดนใต้” ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงเล่าลือหนาหูว่า มีการบิดเบือนกระบวนการทั้งขณะเข้าจับกุมและสอบสวน มีการซ้อมทรมาน และบางครั้งถึงขั้นถูกทำให้สูญหาย ต่อไปสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ยากขึ้นแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดไป

ในส่วนเจ้าหน้าที่หลัง พ.ร.บ.ซ้อมทรมานบังคับใช้จริงจังย่อมมี “ความยุ่งยาก” ในการปฏิบัติหน้าที่แน่นอน เพราะสิ่งที่เคยชินและเคยทำจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะต่อไปนี้การปฏิบัติหน้าที่มีแต่ต้องรอบคอบมากยิ่งขึ้นไปแทบทุกกระเบียดนิ้ว ไม่อย่างนั้นอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาหรือไม่ก็ถูกฟ้องเสียเอง

ต่อไปนี้การจับกุมไม่ว่าจะเป็นความผิดซึ่งหน้า และโดยเฉพาะการเข้า “ปิดล้อมและตรวจค้น” แนวร่วมหรือกองกำลังบีอาร์เอ็นตามบ้านเรือนประชาชน อันมักนำสู่การปะทะด้วยอาวุธ และมักจบลงด้วยการวิสามัญฯ ซึ่งเคยเป็นข่าวครึกโครมมาต่อเนื่องนั้น หากเจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติการแบบเดิมๆ อาจมีคดีความตามมาได้

ต้องไม่ลืมว่า “ภาคประชาสังคม” ในชายแดนใต้ และโดยเฉพาะที่อยู่ใต้ปีกบีอาร์เอ็นมีความเข้มแข็งมาก รวมทั้งยังมีกองหนุนแข็งขันจากกลุ่ม “เอ็นจีโอ” และ “นักสิทธิมนุษยชน” ยิ่งโดยเฉพาะ “นักกฎหมายมุสลิม” ในพื้นที่ด้วยแล้ว ต่างยอมรับกันว่ามีการปฏิบัติงานที่เข้มแข็งอย่างมาก

ก็ได้แต่หวังว่า พ.ร.บ.ซ้อมทรมานที่บังคับใช้แล้วจะไม่ถูกฝ่ายบีอาร์เอ็นนำไปใช้บิดเบือน กดดัน รวมถึงแปรสิ่งผิดให้เป็นถูก ที่สำคัญจะไม่ทำให้ทั้งฝ่าย “ทหาร” และ “ตำรวจ” เมินเฉยต่อการจับกุมผู้ทำความผิด หรือหลีกเลี่ยงการ “ปิดล้อมและตรวจค้น” เป้าหมาย เพราะมัวแต่ “เซฟตนเอง”

วันนี้สถานการณ์ไฟใต้เหมือนอยู่ในช่วง “สุญญากาศ” ทั้งที่เป็นผลจากเพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหญ่มาหมาดๆ และอยู่ระหว่างขั้นตอนเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากเก่าสู่ใหม่ โดยมี “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อยู่ในเวลานี้

ที่สำคัญนโยบายของ “ว่าที่รัฐบาลใหม่” ที่ประกอบด้วย 8 พรรคคือ ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เป็นธรรม เพื่อไทรวมพลัง และพลังสังคมใหม่ ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างปัญหาไฟใต้อย่างมีนัยสำคัญ หรือแทบจะกล่าวได้ว่าเป็น “คนละเรื่อง” กับที่รัฐบาลเก่าเคยทำมาต่อเนื่อง

เอาแค่ที่คิดจะเปลี่ยนนโยบายจากที่มุ่งเน้น “ความมั่นคงของทหาร” มาเป็น “ความมั่นคงของประชาชน” และอาจถึงขั้นยุบทิ้ง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รวมถึง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศอ.บต.) เพื่อให้ชายแดนใต้ไม่แตกต่างกับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งบ้างว่าสุดโต่ง แต่นี่คือสิ่งที่แกนนำรัฐบาลใหม่ประกาศไว้แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังเลือกตั้งมานี้ ปรากฏว่า “ปฏิบัติการทางทหาร” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าดูเหมือนจะหยุดนิ่งไป พร้อมๆ กับ “ภารกิจผู้นำหน่วย” หันไปจับตาด้านวัฒนธรรมอย่างเป็นด้านหลัก เช่น การแต่งกายสืบสานวัฒนธรรมประเพณี การประกวดประตูชัย เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้นกระบวนการ “เจรจาสันติภาพ” หรือที่มีการตั้งชื่อให้สวยหรูว่า “การพูดคุยสันติสุข” ระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ซึ่งมอบหมายให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ปรากฏว่าการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ก็มีอันชะงักงันไปแล้วเช่นกัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้เมื่อผสมโรงกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ซ้อมทรมานด้วยแล้ว นั่นอาจทำให้พื้นที่ชายแดนใต้มีแต่ยิ่งตกอยู่ในภาวะ “สุญญากาศ” เพื่อรอการ “เปลี่ยนผ่าน” ที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งไม่รู้จะเป็นเมื่อไหร่หรือนานแค่ไหน

ต้องยอมรับว่าที่วิกฤตไฟใต้ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ฝ่ายที่ได้เปรียบย่อมเป็น “บีอาร์เอ็น” ดังนั้น เราจึงต้องจับตากันใกล้ชิดต่อไปว่าบีอาร์เอ็นจะมีปฏิบัติการเช่นไรในระหว่างที่อำนาจรัฐไทยเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่ ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือมากมายหลุมบ่อที่เป็นไปด้วยขวากหนาม

แต่ที่แน่ๆ คือ เสียงปืน เสียงระเบิด กลิ่นควันไฟ และอารมณ์ความรู้สึกของการเข่นฆ่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และโดยเฉพาะยิ่งการบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมานเป็นผลด้วยแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยิ่ง “เป็นคุณ” ให้เหล่าขบวนการก่อการร้ายได้เปิดปฏิบัติการแบบเหิมเกริมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น