xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนผลไม้ตรังยิ้มรับทรัพย์ ทุเรียนบ้านสุดขายดี มีเท่าไหร่ไม่พอขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ยิ้มรับทรัพย์ หลังทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมืองกำลังออกผลผลิต สร้างรายได้เสริมให้เป็นอย่างดี แถมยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

วันนี้ (24 พ.ค.) ที่บ้านคลองคุ้ย หมู่ที่ 3 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ชาวเกษตรกรที่นี่จะนิยมปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน โดยเฉพาะทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมือง ร่วมกับไม้ผลชนิดอื่นๆ เช่น มังคุด เงาะ ลองกอง และที่สำคัญคือ ทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมืองบางต้นในพื้นที่แห่งนี้ มีอายุมากถึง 100 ปีแล้ว ซึ่งปีนี้พบว่ามีผลผลิตออกมาดกเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในช่วงนี้ชาวเกษตรกรจึงเก็บลูกทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมือง มาวางขายกันตามหน้าบ้านริมถนนสายห้วยยอด-บ้านโพธิ์ โดยมีนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ใช้รถเดินทางผ่านสัญจรไปมาให้ความสนใจมาซื้อหาทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ รวมทั้งยังมีพ่อค้าคนกลางมาเหมาเป็นเข่งเพื่อนำไปขายต่อด้วยก็มี


ป้าสาว หรือนางกัลยาณี โชติรัตน์ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เจ้าของทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมือง บอกว่า ปกติตนจะมีอาชีพหลักคือ ขายลูกชิ้นทอดอยู่หน้าบ้านติดริมถนน แต่มีทำอาชีพเสริมด้วยการปลูกทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมืองไว้ทั้งหมด 20 ต้น แล้วนำลูกทุเรียนที่สุกมาวางขายหน้าบ้านด้วย ในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งปีที่แล้วทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมืองไม่ออกลูกเลย เนื่องจากฝนตกชุกตลอดปี แต่ปีนี้โชคดีได้ผลผลิตเยอะ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยทุเรียนสายพันธุ์นี้มีจุดเด่นคือ รสชาติหวานหอม จึงเหมาะนำไปทำน้ำกะทิ หรือข้าวเหนียวทุเรียน คาดว่าฤดูกาลทุเรียนปีนี้จะมีรายได้เสริมเข้ามา 3-5 หมื่นบาท โดยทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมืองดังกล่าวจะมีขายไปถึงกลางเดือนมิถุนายน ผู้สนใจโทร.จองได้ที่ 09-0949-2928

ด้าน น.ส.มณฑา ทองขาว นายก อบต.ปากแจ่ม บอกว่า ที่ออกผลผลิตในช่วงนี้จะเป็นทุเรียนบ้านพันธุ์พื้นเมือง และมังคุด ส่วนผลไม้อื่นๆ เช่น ลองกอง เงาะ ต้องรออีก 3 เดือนถึงจะออกผลผลิตให้ สำหรับผลผลิตทุเรียนที่ออกมาตอนนี้เกือบจะไม่พอกับผู้บริโภค แต่หากมีผลไม้ชนิดไหนที่ออกมาเยอะ และทำให้ราคาตกลง ทาง อบต.จะมาช่วยส่งเสริมชาวบ้าน ด้วยการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อถึงในพื้นที่ หรือช่วยจัดเทศกาลผลไม้ให้ เพราะเมื่อปีที่แล้วเคยประสบปัญหาลองกองราคาตกเหลือกิโลกรัมละ 5 บาท แต่พ่อค้าคนกลางกลับนำไปขายสู่ตลาดได้ถึงกิโลกรัมละ 30-40 บาท ทำให้ชาวเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ได้ในราคาที่ต่ำ อีกทั้งยังต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อผลไม้ในพื้นที่เอง เพราะนอกจากได้ของดีราคาถูก และช่วยเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังสามารถเข้ามาเที่ยวชมธรรมชาติในพื้นที่ได้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น