xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.สุ่มตรวจโครงการอาหารกลางวัน พบบางแห่งอาหารเหลือมากและยังไม่ได้งบจัดสรร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ป.ป.ช.ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนพื้นที่ จ.ตรัง พบบางแห่งมีอาหารในแต่ละวันเหลือมาก เพราะนักเรียนเปลี่ยนไปกินมาม่าคัพแทน และบางแห่งยังไม่จัดสรรเงินมาให้ทั้งที่เปิดเรียนหลายวันแล้ว

วันนี้ (23 พ.ค.) นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ตรัง พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง และเครือข่ายภาคประชาชน ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านนาเมืองเพชร ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง โดยโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนชั้นอนุบาล จำนวน 80 คน ชั้นประถม จำนวน 277 คน ชั้นมัธยม 1-3 จำนวน 100 คน ซึ่งทางโรงเรียนได้ค่าหัวนักเรียนหัวละ 22 บาท จากเทศบาลตำบลนาเมืองเพชร โดยต้องไปรับเช็ค 100 วันต่อ 1 ภาคเรียน


อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เปิดเรียนผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว ทางเทศบาลยังไม่จัดสรรเงินงบประมาณมาให้ โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ดังนั้น บรรดาครูในโรงเรียนจึงช่วยกันแชร์ค่าอาหารกลางวันให้คนละ 300 บาทต่อเดือน เพราะจากปัญหาความล่าช้าของเงินอุดหนุนดังกล่าว จึงทำให้ทางโรงเรียนต้องรวมเงินลงขันจ่ายให้คู่สัญญาไปก่อน ซึ่งทางโรงเรียนแจ้งว่าได้จัดซื้อจัดจ้างแบบอาหารปรุงสำเร็จ แต่เมื่อขอตรวจสอบเอกสาร ทางโรงเรียนแจ้งว่าเอกสารทั้งหมดได้ส่งไปเทศบาลหมดแล้ว จึงไม่มีให้ตรวจสอบ

สำหรับเมนูอาหารในวันนี้คือ แกงไตปลา ผัดผักกะหล่ำปลี ส่วนผลไม้คือ ฝรั่ง และมีไก่ต้มฟัก เป็นเมนูเสริมให้เด็กอนุบาล ซึ่งอาหารที่จัดทำขึ้นเพียงพอต่อนักเรียนทุกคน แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีเด็กจำนวนมากรับประทานอาหารเหลือในจาน หรือแทบจะไม่แตะอาหารเลย และหลายคนหันไปซื้อมาม่าคัพจากสหกรณ์มาใส่น้ำร้อนรับประทานแทนข้าว

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับแม่ครัวโรงเรียน ระบุว่า เป็นผู้ไปจัดซื้ออาหารมาปรุงเอง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยนำงบประมาณไปจ้างแม่ครัวซื้อวัตถุดิบ และมาปรุงให้นักเรียน แต่เมื่อสอบถามว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ ทางโรงเรียนปฏิเสธการให้สัมภาษณ์


นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ในครั้งนี้ ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารสถานศึกษา และครูว่า เปิดภาคเรียนใหม่มาหลายวันแล้ว แต่ทางโรงเรียนยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ต้องช่วยกันแชร์เงินกันเพื่อให้ได้มีการเบิกจ่ายให้กคู่สัญญาในการจัดทำโครงการอาหารกลางวัน เป็นเงินกว่า 30,000 บาท ส่วนการจัดทำโครงการอาหารกลางวันได้มีข้อสังเกตในเรื่องของคุณภาพของอาหาร เช่น บางเมนูที่ทำมา น้องๆ นักเรียนไม่ชอบทาน เช่น ผัดกะหล่ำปลี หรือฟักต่างๆ ทำให้ต้องมีการเททิ้ง เป็นที่น่าเสียดาย พยายามให้ทางโรงเรียนปรับปรุงเมนูให้สอดคล้องกับการบริโภคของนักเรียน ซึ่งหากเป็นไปตามหลักโภชนาการ สามารถจะเกิดทั้งในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณ

ขณะที่ นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า เท่าที่ลงไปตรวจสอบแบบที่ทางโรงเรียนไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้า พบว่า อาหารกลางวันที่จัดให้นักเรียนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างจะดี คือ มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งในส่วนของโปรตีน ผัก และผลไม้ แต่ประเด็นปัญหาของทางโรงเรียนคือ ลักษณะของการจ้างผู้มาทำอาหารที่ยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม และต้องนำมาตรวจสอบกันอีกครั้งว่า โรงเรียนใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบไหนกันแน่ เพราะเท่าที่สังเกตและขอข้อมูลยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าจะทำถูกต้องตามระเบียบที่ทาง สพฐ. กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งจะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ เพื่อให้โรงเรียนทำให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งเฝ้าระวังในเรื่องคุณภาพและปริมาณของอาหารที่นักเรียนจะได้รับในอนาคต




กำลังโหลดความคิดเห็น