xs
xsm
sm
md
lg

“แมวดาว” ถูกรถชนอาการทรุดหนัก หากรอดพิการแน่นอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พังงา - หนุ่มพังงา ช่วยแมวดาวถูกรถชนบนถนนเส้นเมืองพังงา-กะปั่วป่า เจ้าหน้าเร่งข่วยเหลือ พบอาการหนักมาก หากรอดพิการแน่นอน

จากเหตุการณ์ที่มีหนุ่มชาว ต.ทุ่งคาโงก จ.พังงา ได้ขับรถจักรยานยนต์กลับมาจากตัวเมืองพังงา บนเส้นทางเมืองพังงา-ตะกั่วป่า ขณะที่ขับมาถึงบริเวณใกล้กับโค้งจุดชมวิว ต.ทุ่งคาโงก ได้พบเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งถูกรถที่ขับไปมาชนนอนเจ็บอยู่บนถนน จึงรีบจอดรถลงไปดู และพบว่าเป็นร่างของเสือปลาขนาดโตเต็มวัย ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บและยังมีชีวิตอยู่ จึงยกร่างเสือปลาออกจากถนน แล้วเอาไปวางไว้ที่กอหญ้าข้างถนน และพูดกับมันว่าเอาไปด้วยไม่ได้เพราะขับรถบิ๊กไบค์มาและบอกว่าอย่าไปไหนพรุ่งนี้จะกลับมาช่วยเหลือ และได้ประสานให้ทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา มารับตัวไปให้ความช่วยเหลือดูแลรักษาต่อ

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ต.ตากแดด อ.เมือง จ.พังงา พบว่าทางเจ้าหน้ากำลังให้ความช่วยเหลืออยู่และแจ้งว่าเป็นแมวดาว ไม่ใช่เสือปลา และตอนที่รับว่ามีอาการหนักมาก ได้ให้ความช่วยเหลือทำแผลใส่ยารักษา ฉีดยาแก้อักเสบและให้น้ำเกลือ และพบว่าอาการมีแนวโน้มไปในทางที่ไม่ดี


นายสมโชค สุกอินทร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทำหน้าที่สัตวบาล สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา กล่าวว่า แมวดาวตัวนี้ได้รับบาดเจ็บบริเวณช่วงสะโพกและช่วงขาจากการที่ถูกรถชน มีบาดแผลที่ลิ้น และมีรอยกัดจากสัตว์อื่นบริเวณลำคอและสันหลัง ได้ให้การรักษาไปตามอาการ แต่มีอาการทรุดลงเรื่อยๆ คาดว่าถ้ารักษาหายคงจะพิการ ทางเจ้าหน้าที่จะพยายามดูแลรักษาให้ดีที่สุด


แมวดาว (Prionailurus bengalensis) คนส่วนใหญ่ที่พบเห็นมักจะแยกชนิดไม่ออกระหว่างเสือปลาและแมวดาว เพราะหากมองเผินๆ สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่จริงๆ แล้วเสือปลาและแมวดาวมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากจดจำลักษณะเด่นของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งได้ก็สามารถแยกประเภทได้เช่นกัน เสือปลาจะมีสีพื้นออกเทาๆ ลายเป็นจุดเดี่ยว หรือเป็นลูกศรเล็กๆ แต่ไม่มีดอกดวง หางสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัว แต่แมวดาวสีพื้นจะออกน้ำตาลแกมเหลืองหรือแกมแดง ลายจุดจะเป็นดอกเป็นดวง หางยาวกว่าครึ่งหนึ่งของลำตัว แมวดาวเป็นชนิดพันธุ์ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีสัตว์หมายเลข 2 ของอนุสัญญาการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ (CITES) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามล่า และมีไว้ในครอบครอง


กำลังโหลดความคิดเห็น