xs
xsm
sm
md
lg

ชาวถ้ำกระบี่เตรียมชงรัฐบาลใหม่ยกเลิก พ.ร.บ.แร่ หวั่นทำลายมรดกภาพเขียนสี 2 แสนปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระบี่ - ชาวถ้ำ จ.กระบี่ ร่วมกับรวมพลคนรักษ์เขากระบี่ เตรียมชงรัฐบาลใหม่ยกเลิก พ.ร.บ.แร่ หลังพบทำลายสิ่งแวดล้อม แหล่งต้นน้ำ มรดกทางโบราณคดีภาพเขียนสี 2 แสนปี


วันนี้ (21 พ.ค.) ชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ร่วมกับรวมพลคนรักษ์เขากระบี่ เปิดเวทีเสวนา "มหัศจรรย์ถ้ำกระบี่" ขึ้นที่ลานปูดำ หน้าเมืองกระบี่ ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค.66 โดยนำภาพถ่ายของภูเขาและถ้ำต่างๆ ที่สำคัญในพื้นที่ จ.กระบี่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความสวยงาม แหล่งต้นน้ำ มาจัดนิทรรศการแสดงให้ผู้ที่สนใจได้ชมด้วย และนอกจากนี้ ได้เชิญแฟนพันธุ์แท้สัตว์ดึกดำบรรพ์ ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายบอกเล่าเรื่องราวการค้นพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ อ.นิวัฒน์ วัฒนยมนาพร ที่ปรึกษาชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ผู้ที่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้องเพื่อรักษามรดกทางโบราณคดี ภูเขา โถงถ้ำ พูดคุยในหัวข้อ "มรดกถ้ำอันล้ำค่า"


นอกจากนี้ ยังมี "ไกด์น้อง" นายมนัสทวุฒิ ชูแสง คนที่ชื่นชอบถ้ำเป็นชีวิตจิตใจ บอกเล่าเรื่องราวในหัวข้อ "มหัศจรรย์ถ้ำกระบี่" และที่สำคัญอีกท่าน คือ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล สมาชิกมูลนิธิภาคใต้สีเขียว ที่จะมาบอกกล่าวเล่าที่มาที่ไปว่าทำไมต้องถอดกระบี่ออกจากแผนแม่บทแร่ โดยมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไปมาบริเวณดังกล่าว และผู้ที่สนใจเข้ามาชมไม่ขาดสาย


อ.นิวัฒน์ วัฒนยมนาพร ที่ปรึกษาชมรมคนรักถ้ำกระบี่ เปิดเผยว่า ชมรมคนรักถ้ำกระบี่ และรวมพลคนรักษ์เขากระบี่ ได้จัดเวทีเสวนามหัศจรรย์ถ้ำกระบี่ขึ้นเพื่อจะมาบอกเล่าเรื่องของถ้ำและภูเขาในพื้นที่จังหวัดกระบี่ มีค่ามหาศาล มีเรื่องราวของการเกิดสายน้ำ เป็นแหล่งต้นน้ำลำคลองที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดกระบี่ถึง 140 กว่าสาย และมีการค้นพบภาพเขียนสี แหล่งโบราณคดีจำนวนไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง และยังมีการพบว่า พื้นที่ถูเขา และถ้ำในพื้นที่จังหวัดกระบี่เป็นแหล่งสำคัญทางธรณีวิทยา มีการค้นพบฟอสซิลสัตว์ยุคน้ำแข็งประมาณ 200,000 ปี


นอกจากนี้ ภายในถ้ำที่ได้เข้าสำรวจมีร่องรอยของความมหัศจรรย์ ความสวยงาม ความอลังการของถ้ำ โดยในแต่ละถ้ำมีความแตกต่างหลากหลายกันไป เหมาะที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้ซึ่งมีคุณค่าสำคัญ ไม่ใช่เปิดให้มีการสัมปทานเหมืองแร่ ไปทั่วโดยไม่มีการสำรวจข้อมูล ซึ่งภูเขาในพื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็น 1 ในหลายๆ จังหวัดที่ได้มีการกำหนดพื้นที่แหล่งแร่ ซึ่งมันขัดแย้งกับความเป็นจริง สำหรับ พ.ร.บ.แร่ ก่อนที่จะออกมาต้องถามคนในพื้นที่ด้วยว่าบริเวณใดที่เหมาะสมกับการทำเหมืองแร่


ซึ่งที่ผ่านมา บริเวณภูเขาที่กำหนดเป็นแหล่งแร่ปรากฏว่าเป็นแหล่งต้นน้ำ บางแห่งเป็นแหล่งที่มีการสำรวจทางโบราณคดีอยู่ บางที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดี หากปล่อยให้มีการกำหนด พ.ร.บ.แร่ต่อไปจะทำให้พื้นที่ข้างต้นที่กล่าวมาสูญเสียไป


จึงอยากให้มีการทบทวน พ.ร.บ.แร่ โดยถอด พ.ร.บ.แร่ ออกจากจังหวัดกระบี่ เพราะจังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่สีเขียว กระบี่โกกรีน และอีกหลายอย่างที่มีความสำคัญกับภูเขาต้นไม้ที่อยู่ในแวดวงของภูเขาซึ่งเป็นตัวเก็บกักคาร์บอน ช่วยในเรื่องของสภาวะโลกร้อน จึงเป็นที่มาของการเปิดเวทีคนรักษ์ถ้ำ รักษ์เขากระบี่ โดยนำภาพที่ทางกลุ่มได้บันทึกไว้มาแสดงสู่สายตาของชาวกระบี่ และชาวโลก เพื่อให้เห็นว่ากระบี่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล ยังมีถ้ำที่สวยงาม และมีคุณค่าระดับโลก


ด้านนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล สมาชิกมูลนิธิภาคใต้สีเขียว กล่าวว่า พ.ร.บ.แร่ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็น พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ปี 66 หากว่าจะมีการทำเหมืองแร่ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ในแผนแม่บทแร่ ซึ่งทุกพื้นที่ที่จะทำเหมืองแร่ได้จะต้องอยู่ในแผนแม่บทก่อน สำหรับจังหวัดกระบี่ มีพื้นที่อยู่ 4-5 อำเภอที่ถูกกำหนดเป็นแหล่งแร่ มี อ.อ่าวลึก ปลายพระยา ลำทับ เมือง และอำเภอเขาพนมบางส่วน ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่จัดทำแร่ โดยตัว พ.ร.บ.แร่บอกว่าพื้นที่ไหนที่จะทำแร่จะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์เพื่อที่จะประเมินว่าพื้นที่ต่างๆ สมควรที่จะทำเหมืองแร่หรือไม่ หรือสมควรจะรักษาไว้ แต่ใน พ.ร.บ.แร่และแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 2 ไม่ได้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ แต่ได้ยกเอาจังหวัดกระบี่ และจังหวัดต่างๆ ในประเทศเข้าไปบรรจุในแผนแม่บทแร่โดยไม่ได้ทำตามกฎหมายที่บัญญัติว่าการบรรจุพื้นที่ต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงคุณภาพก่อน


ฉะนั้น สิ่งที่คนกระบี่กำลังทำให้เห็นอยู่ตอนนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าถ้ำ และภูเขาเป็นแหล่งทางโบราณคดีและแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ซึ่งทั้ง 2 อย่างถูกเขียนอยู่ใน พ.ร.บ.แร่ ว่า หากเป็นแหล่งโบราณคดีหรือแหล่งต้นน้ำห้ามทำเหมืองแร่ ซึ่งตนและกลุ่มคนรักษ์ถ้ำและคนกระบี่ จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการต่อสู้กับ พ.ร.บ.แร่ ซึ่งคนกระบี่ทั่งหมดจะต้องออกมาต่อสู้ด้วยไปด้วยกัน และเชื่อว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่ จะถูกถอนออกจาก พ.ร.บ.แร่ ได้ด้วยข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งขณะนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะประชาชนชาวกระบี่อย่างเดียวที่ทำข้อมูลทางวิชาการ แต่ยังมีหน่วยงานราชการ ทั้งกรมศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำจะเข้ามาร่วมด้วย ขณะนี้ทางกลุ่มชาวบ้านกำลังทำแผนที่ต้นน้ำ พบว่า หากมีการระเบิดภูเขาออกไปไม่ใช่แต่เฉพาะกระบี่ที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องน้ำ ยังมีจังหวัดที่ใกล้เคียงอีกหลายจังหวัดเนื่องจากสายน้ำใต้ดินเป็นสายเดียวกัน เชื่อว่าการใช้วิชาการที่มีสามารถที่จะปกป้องภูเขาของจังหวัดกระบี่ไว้ได้อย่างแน่นอน

สำหรับในตอนนี้ทางทางกลุ่มกำลังทำข้อมูลทางวิชาการเพื่อจะเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเชื่อว่าอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ และรู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ ซึ่งมีบทบาทใน พ.ร.บ.แร่ จะนำเสนอให้รัฐบาลถอดพื้นที่จังหวัดกระบี่ออกจากแผนแม่บทแร่ เพื่อให้จังหวัดกระบี่รักษาแหล่งโบราณคดีและแหล่งต้นน้ำไว้ ซึ่งเมื่อรัฐบาลเริ่มเข้าทำงานจะไปยื่นเรื่องทันทีอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น