xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สงขลาเตือนระวังโรคไข้เลือดออก หากไข้สูงเกิน 2 วันให้รีบพบแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - สธ.สงขลา แจ้งประชาชนยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก เนื่องจากมีฝนตกทำให้เกิดแหล่งน้ำขังบริเวณบ้าน ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น

วันนี้ (20 พ.ค.) นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้แจ้งให้ประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจังหวัดสงขลายังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก ทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกทำให้เกิดแหล่งน้ำขังอยู่ทั่วไปบริเวณบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และสภาพอากาศค่อนข้างร้อนชื้น เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออก ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมากและเจริญเติบโตได้ดี

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของ จ.สงขลา ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 พ.ค. พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น 1,035 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 72.30 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย อัตราตายต่อประชากรแสนคน เท่ากับ 0.14 อัตราผู้ป่วยตายเท่ากับร้อยละ 0.19 กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 291.84 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี 0-4 ปี อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคืออำเภอสะเดา อัตราป่วยเท่ากับ 138.58 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ อำเภอจะนะ และอำเภอเมืองสงขลา ตามลำดับ

“ดังนั้น ในระยะนี้ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเอง หากมีไข้สูงนานกว่า 2 วัน ร่วมด้วยกับอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย หยุดยาก รวมถึงภาวะตับวาย เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนค ยาที่ปลอดภัยคือ ยาพาราเซตามอล แต่ต้องระวังว่าอย่าใช้ยานี้เกินขนาด ควรใช้ยาตามฉลากยาหรือใช้ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด”

จากข้อมูลการสุ่มสำรวจของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา พบว่า แหล่งน้ำขัง ที่พบลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก ได้แก่ ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว จานรองกระถางต้นไม้ แจกันดอกไม้ ภาชนะที่ไม่ใช้แล้วและทิ้งไว้นอกบ้าน ต้นสับปะรดสี และโอ่งใส่น้ำและภาชนะใส่น้ำใช้ที่ไม่มีฝาปิด

นพ.สงกรานต์ กล่าวว่า การป้องกันโรคไข้เลือดออกส่วนบุคคล ได้แก่ นอนในมุ้งหรืออยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นป้องกันยุงกัด ส่วนครอบครัวและชุมชนต้องร่วมมือในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1.เก็บบ้าน ซึ่งรวมไปถึงโรงเรียน สถานที่สาธารณะต่างๆ ในชุมชน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ 2.เก็บน้ำ โดยปิดภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ส่วนภาชนะขนาดใหญ่ที่ปิดไม่ได้ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ส่วนภาชนะขังน้ำขนาดเล็กควรหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน และ 3.เก็บขยะ โดยเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทำลายให้เหมาะสม




กำลังโหลดความคิดเห็น